3 ขั้นตอนจัดการการเงินและภาษี (ที่ควรทำ) เมื่อออกจากงาน

3 ขั้นตอนจัดการการเงินและภาษี (ที่ควรทำ) เมื่อออกจากงาน

หนึ่งในอาชีพที่มั่นคงที่สุด คือ มนุษย์เงินเดือน แต่จริงๆคำพูดนี้มันไม่จริงเสียเลย โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ช่วงที่ใครหลายคนตัดสินใจออกจากงานหรือถูกบังคับให้ออกจากงานโดยความไม่จำเป็น  รวมถึงกำลังจะถูกเสนอให้ออกจากงานด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

บทความในตอนนี้รวบรวม 3 ขั้นตอนที่ควรทำ ที่รังสรรค์จากประสบการณ์ในชีวิตจริงและจากข้อมูลที่รวบรวมทั้งหมดมาสรุปและฝากกันไว้ให้พิจารณา

1.เช็กเงินสำรองก่อนว่าเพียงพอไหม เพราะถ้าหากเงินสำรองที่เรามียังไม่พอใช้จ่ายล่วงหน้าไปสัก 6-12 เดือนในช่วงที่ต้องออกจากงานและหางานใหม่ไม่ได้ในระหว่างนั้น เรายิ่งต้องบริหารจัดการในข้ออื่นๆให้ดีขึ้นกว่านี้ และพยายามที่จะสร้างกระแสเงินที่เป็นบวกโดยการหารายได้เพิ่มให้ได้ไวที่สุด

2. เราได้รายได้ (เงินได้) อะไรจากการออกจากงานบ้าง สำหรับข้อนี้ อยากให้เช็กสิ่งที่ได้รับจากนายจ้างในปีที่เราออกว่าเราได้รับอะไรบ้าง ซึ่งหลักๆ แล้วเราจะได้รับเงินประมาณ 3 ก้อน ดังนี้

● เงินเดือนที่ได้มาตลอดจนถึงวันสุดท้ายของการทำงาน สำหรับเงินก้อนนี้ถือว่าเป็นเงินที่เรายังต้องนำมายื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ โดยเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ตามกฎหมายและเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ว่า ถึงแม้เราจะออกจากงานในระหว่างปีก็ตาม แต่รายได้ที่เกิดขึ้นยังต้องนำมาคำนวณภาษีอยู่ดี
● เงินชดเชย เงินพิเศษ เงินก้อน เงินที่คำนวณให้ในกรณีต่างๆ สำหรับก้อนนี้คือก้อนที่ชี้ชะตาชีวิตแล้วนะ ถ้าหากไม่ใช่การออกโดยสมัครใจ เราย่อมได้รับเงินชดเชยต่างๆ จากการที่นายจ้างตัดสินใจให้เราออกจากงาน ซึ่งตรงนี้คำถามที่เราต้องถามเพิ่มเติม คือ เงินชดเชยก้อนไหนได้รับสิทธิยกเว้นภาษีบ้าง และ เงินชดเชยก้อนไหนต้องเสียภาษีบ้าง?
● เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในกรณีที่เราตัดสินใจนำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งรวมถึงผลประโยชน์ต่างๆที่ได้รับจากกองทุน ทำให้ในส่วนที่นายจ้างสมทบและผลประโยชน์จากการลงทุนต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วยเช่นกัน (ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ตามกฎหมายเช่นเดียวกัน)

3. กระแสเงินสดและสภาพคล่อง เมื่อพิจารณาขั้นตอนที่สองเรียบร้อยแล้ว ก็อยากให้พิจารณาเพิ่มเติมเรื่องของกระแสเงินสดในแต่ละเดือนที่ต้องใช้จ่ายกับสภาพคล่องที่เรามีอยู่ ณ จุดนี้ โดยเปรียบเทียบกันแบบไม่มีอคติว่าชีวิตจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยสิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับการใช้ชีวิตต่อ (ระหว่างหางานใหม่) คือ สำรองเงินที่ได้รับบางส่วนไว้ใช้จ่ายส่วนตัวเท่าที่จำเป็น และจัดการหนี้สินหรือเจรจาในการชำระหนี้สิน เพื่อให้กระแสเงินสดยังเป็นบวก หรือยังเพียงพอต่อการใช้จ่ายในระหว่างที่หางานใหม่

คำแนะนำที่อยากแนะนำมากๆ เลยคือ “ห้ามใช้จ่ายเงินด้วยอารมณ์” เนื่องจากการออกจากงานจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเราในการจัดการตัวเองมาก ซึ่งทำให้บางคนเผลอใช้จ่ายตามอารมณ์ไป และทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดในบางครั้ง ควรหากระแสเงินสดเข้ามาให้มากที่สุด และทำให้เงินก้อนที่มีอยู่ใช้ได้ในนานที่สุดตราบเท่าที่รายได้ยังไม่เข้ามาเพราะนี่คือหนทางที่ดีทีสุดที่ทำได้

บางส่วนจากบทความ  “3 ขั้นตอนจัดการการเงินและภาษี (ที่ควรทำ) เมื่อออกจากงาน”

อ่านบทความเต็มได้ใน… วารสาร HR Society magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ ฉบับที่ 215 เดือนพฤศจิกายน 2563

อ้างอิง :

https://www.dst.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4036:3-step-finance-tax&catid=29&Itemid=180&lang=th

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart