เรื่องควรรู้ การใช้ที่ดินเป็นหลักประกันตามกฎหมาย

เรื่องควรรู้ การใช้ที่ดินเป็นหลักประกันตามกฎหมาย

เมื่อไม่นานมานี้เชื่อว่าผู้อ่านคงได้เห็นข่าวผ่านตากันมาบ้าง กรณีตำรวจนำโฉนดที่ดินของคุณปู่ท่านหนึ่งที่ใช้ประกันตัวผู้ต้องหา ไปค้ำประกันเงินกู้ของตัวเอง ทำให้บางคนอ่านข่าวแล้วอาจมีข้อสงสัยว่าเอาโฉนดที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้อย่างไรกัน ในบทความนี้ ผมจึงอยากจะชวนผู้อ่านคุยกันเรื่องการใช้ที่ดินเป็นหลักประกันตามกฎหมาย

การค้ำประกันด้วยทรัพย์ตามกฎหมาย

ถ้าหากไม่นับทรัพย์อิงสิทธิซึ่งเป็นสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายเฉพาะที่เพิ่งประกาศใช้ไปไม่นาน โดยหลักแล้วการค้ำประกันด้วยทรัพย์ตามกฎหมายนั้นมี 2 ลักษณะแบ่งตามลักษณะของทรัพย์ คือ

  1. สังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายได้การค้ำประกันด้วยทรัพย์ทำด้วยการจำนำ คือ การส่งมอบสังหาริมทรัพย์นั้นไว้ให้แก่เจ้าหนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะชำระหนี้ หากผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้สามารถบังคับเอาหลักประกันที่จำนำนั้นตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ได้
  2. อสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ได้แก่ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมทั้งสังหาริมทรัพย์พิเศษ ได้แก่ สัตว์พาหนะที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมีทะเบียน และเรือที่มีระวางตั้งแต่5 ตันขึ้นไป

ทรัพย์ประเภทนี้กฎหมายกำหนดให้นำไปค้ำประกันด้วยการจำนอง ต้องทำตามแบบที่ราชการกำหนด และไปจดทะเบียนกับสำนักงานที่ดินที่ทรัพย์ตั้งอยู่ เสียค่าธรรมเนียม และจะมีการบันทึกรายการจดทะเบียนจำนองนั้นไว้ที่หลังรายการสารบัญจดทะเบียนเพื่อที่บุคคลทั่วไปมาตรวจดูจะทราบว่ามีการใช้ทรัพย์นั้นเป็นหลักประกัน

เมื่อลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ก็สามารถบังคับเอากับหลักประกันนั้นได้ เรียกว่าการบังคับจำนอง โดยการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับเอาหลักประกันนั้นออกขาย ขายได้เท่าไหร่ เจ้าหนี้จำนองต้องได้รับชำระหนี้จนครบก่อนเจ้าหนี้อื่น เรียกว่ามีบุริมสิทธิเหนือเจ้าหนี้อื่น ๆ สำหรับทรัพย์นั้น

การค้ำประกันด้วยโฉนดที่ดินของคุณปู่ผู้เสียหายที่เป็นข่าว

ผู้เสียหายตามข่าวที่เอาโฉนดที่ดินไปค้ำประกันไว้เป็นอีกกรณีหนึ่ง ไม่ใช่การค้ำประกันด้วยทรัพย์ตามกฎหมาย แต่เป็นการนำโฉนดที่ดินไปเป็นหลักประกันต่อตำรวจเพื่อขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน ไม่มีการจดทะเบียนจำนอง

การทำสัญญาประกันตัวในคดีอาญาด้วยอสังหาริมทรัพย์แบบนี้ก็สามารถทำตามกฎหมายได้เช่นกัน ทั้งในชั้นสอบสวน (ตำรวจ) ชั้นอัยการ หรือชั้นศาลก็ตาม โดยหน่วยงานราชการที่รับหลักประกันจะทำสัญญาประกันไว้กับเจ้าของทรัพย์ซึ่งเป็นนายประกัน รับหน้าที่ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย

เจ้าของทรัพย์หรือนายประกันนี้มีหน้าที่จะต้องพาตัวผู้ต้องหาจำเลยไปพบตำรวจ อัยการ หรือศาลตามที่กำหนดไว้ ไม่อย่างนั้นหน่วยงานที่รับหลักประกันก็จะดำเนินการบังคับเอากับหลักประกันตามระเบียบของหน่วยงานนั้น ๆ เช่น นำออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินที่ได้มาชำระค่าปรับจากการผิดสัญญาประกัน ตามวงเงินประกันที่กำหนดไว้ในสัญญาประกันต่อไป

แล้วตำรวจในข่าวเอาโฉนดที่ดินออกไปค้ำประกันแบบไหน

จากเนื้อหาข่าวกล่าวไว้แค่ว่าตำรวจเอาที่ดินไปค้ำประกันหนี้ส่วนตัว ผมจึงเข้าใจว่าเป็นการนำโฉนดที่ดินไปมอบไว้ให้กับเจ้าหนี้ตามสัญญากู้ในลักษณะเดียวกับที่ชาวบ้านนิยมทำกันทั่วไป

การนำโฉนดไปมอบไว้ให้กับเจ้าหนี้เช่นนี้ ต่างออกไปจากการจำนอง หรือการทำสัญญาประกันในคดีอาญาที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เฉพาะว่าให้ทำได้ เจ้าหนี้ที่ได้รับโฉนดไว้ในลักษณะนี้จึงไม่มีสิทธิพิเศษใด ๆ เหนือที่ดินแปลงนั้นเลย ไม่เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ ไม่สามารถบังคับคดีเอาที่ดินแปลงนั้นออกขายทอดตลาดชำระหนี้ตัวเองก่อนได้

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6121/2559 ยังวางหลักไว้ว่า กรณีที่ลูกหนี้นำโฉนดที่ดินไปวางเป็นประกันหนี้เงินกู้ต่อเจ้าหนี้ไว้ ไม่เป็นหลักประกันตามกฎหมาย และเจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้ เนื่องจากไม่มีหนี้ที่เป็นคุณเหนือตัวทรัพย์คือที่ดินนั้น และต้องคืนโฉนดให้ลูกหนี้ด้วย

สรุปเลยก็คือ กรณีตามข่าวคุณปู่ผู้เสียหายสามารถฟ้องเรียกให้เจ้าหนี้ของตำรวจคืนโฉนดให้ได้ และสำหรับผู้อ่านทุกท่านที่คิดจะรับหลักประกันเป็นโฉนดก็ขอให้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ นำไปจดทะเบียนจำนอง มิเช่นนั้นแล้ว ถึงจะถือโฉนดเอาไว้ ลูกหนี้ก็สามารถฟ้องเรียกเอาคืนได้ทุกเมื่อ

 

อ้างอิง : ใช้ที่ดินเป็นหลักประกันตามกฎหมายในกรณีไหนได้บ้าง | DDproperty.com| DDproperty.com

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart