เงินบริจาค ลดหย่อนภาษีได้อย่างไร

เงินบริจาค ลดหย่อนภาษีได้อย่างไร

เงินบริจาคทั่วไปลดหย่อนได้ไม่เกิน 10%
เงินบริจาคทั่วไป ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินบริจาค
เงินได้สุทธิ = (เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อนอื่น ๆ) – เงินบริจาค
โดยปกติจะเป็นเงินที่บริจาคให้แก่วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาล และสถานศึกษาของทางราชการ หรือองค์การของรัฐบาล สถานศึกษาเอกชน สถานสาธารณกุศล หรือมูลนิธิต่าง ๆ (ทั้งนี้ ต้องตั้งอยู่ในประเทศไทย การบริจาคเงินให้วัดที่ก่อตั้งขึ้นในต่างประเทศไม่สามารถลดหย่อนได้)

เงินบริจาคแบบไหนได้ลดหย่อนภาษี 2 เท่า
เงินบริจาคพิเศษใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ เงินบริจาคพิเศษ ได้แก่

1. เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา
ต้องเป็นเงินบริจาคให้แก่สถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศในพื้นที่ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) สำหรับค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้
– จัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา
– จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
– จัดหาครูอาจารย์ หรือเป็นทุนการศึกษา การประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้า หรือการวิจัย สำหรับนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาของสถานศึกษา

2. เงินบริจาคสนับสนุนโรงพยาบาลรัฐ
ต้องเป็นเงินบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ และรวมถึงดังต่อไปนี้
– สถานพยาบาลของสถานศึกษาของรัฐ
– สถานพยาบาลขององค์การมหาชน
– สถานพยาบาลของรัฐวิสาหกิจ
– สถานพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
– สถานพยาบาลของสภากาชาดไทย
– สถานพยาบาลของหน่วยงานอื่นของรัฐ

3. เงินบริจาคพิเศษอื่น ๆ
– เงินบริจาคสนับสนุนกองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กองทุนสนับสนุนการวิจัยตามกฎหมาย, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข
– เงินบริจาคสนับสนุนการกีฬาให้สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยต่าง ๆ
– เงินบริจาคให้แก่สถานศึกษาของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเพื่อใช้ในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน
– เงินบริจาคให้กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาจัดตั้งขึ้น
– เงินบริจาคให้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการ และความช่วยเหลืออื่นจากรัฐกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
– เงินบริจาคให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
– เงินบริจาคให้โครงการฝึกอบรมอาชีพและการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม
ทั้งนี้ ผู้ที่บริจาคสนับสนุนการศึกษา เพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี 2 เท่า จะต้องบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) เท่านั้น

บริจาคผ่านระบบ e-Donation อย่างไร
ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Donation เป็นระบบที่พัฒนาโดยกรมสรรพากร ใช้รองรับข้อมูลการบริจาค เพื่อให้ผู้บริจาคไม่จำเป็นต้องเก็บหลักฐานการบริจาคเมื่อจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
แจ้งความประสงค์จะใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 ช่องทาง คือ
– กรณีบริจาคด้วยเงินสดที่หน่วยรับบริจาค ให้แจ้งหน่วยรับบริจาคบันทึกข้อมูลการบริจาคบน e-Donation ได้ทันที เพื่อส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรต่อไป
– กรณีบริจาคผ่านธนาคารพาณิชย์โดยการโอนเงินด้วย QR Code ให้สังเกตแผ่นป้าย QR Code ต้องมีคำว่า “e-Donation” และชื่อบัญชีเงินฝาก “หน่วยรับบริจาค” เมื่อสแกน QR Code แล้ว จะมีข้อความแจ้งความประสงค์ให้ธนาคารส่งข้อมูลการบริจาคของเราให้กรมสรรพากร เพื่อขอหักลดหย่อนภาษี

ปัจจุบันมีธนาคารที่เข้าร่วมโครงการและเปิดให้บริการระบบ e-Donation แล้วดังนี้
• ธนาคารกรุงเทพ
• ธนาคารกรุงไทย
• ธนาคารกสิกรไทย
• ธนาคารทหารไทย
• ธนาคารไทยพาณิชย์
• ธนาคารธนชาต
• ธนาคารมิซูโฮ
• ธนาคารออมสิน

บริจาคหลายคนลดหย่อนภาษีอย่างไร
สำหรับกรณีที่มีการบริจาคเงินร่วมกันหลายคน โดยมีชื่อทุกคนอยู่ในใบเสร็จรับเงินบริจาค จะถือว่าแต่ละคนบริจาคเงินคนละเท่า ๆ กัน โดยสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เท่ากับจำนวนเงินที่หารเฉลี่ยแล้ว หรือสองเท่าของเงินที่หารเฉลี่ยถ้าเป็นการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา
ในกรณีที่มีการเขียนชื่อผู้บริจาคที่มีคำว่า “และครอบครัว” เช่น นาย A และครอบครัว” แบบนี้ถือว่านาย A เป็นผู้บริจาคเงิน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนเงินบริจาคได้ทั้งจำนวน
หลักฐานในการยืนยันการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี
การใช้สิทธิลดหย่อนจากเงินบริจาคจะต้องมีหลักฐานเพื่อประกอบการยื่นภาษี นั่นคือ ใบอนุโมทนาบัตรหรือใบเสร็จรับเงินที่มีมีข้อความที่แสดงถึง ชื่อองค์กรที่บริจาคเงิน วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จหรือใบอนุโมทนาบัตร ชื่อผู้บริจาคเงิน และจำนวนเงินที่บริจาค (แต่ถ้าบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Donation ไม่ต้องใช้หลักฐานการบริจาค)

ตัวอย่างการใช้เงินบริจาคลดหย่อนภาษี

ลองมาดูตัวอย่างการใช้สิทธิลดหย่อนจากเงินบริจาค สมมติให้นาย B บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา 100,000 บาท นาย B สามารถนำใบเสร็จของสถานศึกษาที่บริจาคมาเป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 200,000 บาท แต่ก่อนที่นาย B จะใช้สิทธิลดหย่อนต้องดูว่าเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ เป็นเท่าไร
หากนาย B มีเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนอื่น ๆ อยู่ที่ 1.5 ล้านบาท นาย B จะใช้สิทธิได้เพียง 150,000 บาทเท่านั้น เพราะการลดหย่อนจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ

จะเห็นได้ว่าเงินบริจาคนอกจากจะเป็นการทำบุญให้หน่วยงาน หรือองค์กรการกุศลต่าง ๆ ยังได้ผลตอบแทนทางภาษีโดยสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเพิ่มเข้ามาด้วย

อ้างอิง : เงินบริจาค ลดหย่อนภาษีได้| DDproperty.com

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart