ออก “ใบกำกับภาษี” อย่างไร ไม่ให้มีปัญหากับสรรพากร ?

ออก “ใบกำกับภาษี” อย่างไร ไม่ให้มีปัญหากับสรรพากร ?

สำหรับประเด็นในวันนี้เราจะมาพูดคุยกันในเรื่อง ใบกำกับภาษี ที่ใครหลายคนค้างคาใจ ว่าทำอย่างไรถึงจะออกใบกำกับภาษีได้อย่างถูกต้องและไม่มีปัญหากับพี่ๆสรรพากร

เพื่อให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ เข้าใจในแบบง่ายๆสั้นๆเลยจัดทำ Checklist สามข้อมาฝากให้เจ้าของธุรกิจทั้งหลายตรวจสอบใบกำกับภาษีของตัวเองกันน้า เอาล่ะ… เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า

ข้อแรก : ใบกำกับภาษี ต้องออกโดยผู้มีสิทธิออกเท่านั้น!!

สำหรับข้อแรก ขอปูพื้นเบาๆกับเรื่องการออกใบกำกับภาษี สำหรับคนที่ทำธุรกิจทั้งหลายนั้น เวลามีคนมาซื้อสินค้าหรือบริการจากเรา อาจจะถามหา “ใบกำกับภาษี” ซึ่งตรงนี้ต้องเน้นย้ำก่อนนะว่า “ธุรกิจที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว” เท่านั้นที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ ถ้าหากไม่ใช่ธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วล่ะก็ ห้ามออกใบกำกับภาษีเด็ดขาดเลยนะ เพราะจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายกรณี “ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก”

ตรงนี้ขออนุญาตเพิ่มเติมความรู้สักเล็กน้อยนะ มีบางคนที่เข้าใจผิดเรื่องของการออกใบกำกับภาษี กับ การหักภาษี ณ ที่จ่าย ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ความเป็นจริง ใบกำกับภาษีนั้นเป็นเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคิดในอัตรา 7% ของยอดขายหรือบริการ ส่วนการหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น เป็นเรื่องของภาษีเงินได้ และเป็นหน้าที่ของผู้ที่จ่ายเงินที่ต้องหักภาษีไว้ทุกครั้ง ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด

ทำผิดอย่าเผลอ : ถ้าหากเราดันไปออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก จะถือว่ามีความผิด ตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งจำนวนพร้อมเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษี ตามมาตรา 89(6) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องรับผิดทางอาญาโทษจำคุกสามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันถึงสองแสนบาท ตามมาตรา 90/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร หรือพูดสั้นๆง่าย คือ จ่ายภาษีสูงสุด 4 เท่า (ภาษี + เบี้ยปรับ 2 เท่า + เงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนสูงสุดไม่เกินจำนวนภาษี) พร้อมโทษอาญาจ้า

ข้อสอง : ใบกำกับภาษี ต้องครบถ้วนและถูกต้อง

ถ้าหากธุรกิจของเราได้ “จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม” เรียบร้อยแล้ว สิ่งต่อมาที่ต้องรู้คือ เราจะมีสภาพที่เรียกว่า “ผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม” ซึ่งมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีอย่างถูกต้อง และมีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด  ซึ่งใบกำกับภาษีที่เราสามารถออกได้นั้น มีอยู่ 2 ประเภท คือ ใบกำกับภาษีเต็มรูป และ ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ซึ่งโดยปกติแล้ว กิจการทั่วไปจะต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้กับผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ

แต่สำหรับกิจการที่เป็นกิจการค้าปลีก ที่เป็นการขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง หรือ บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น ร้านสะดวกซื้อ โรงแรม ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้าต่างๆ เป็นต้น นั้น จะสามารถออก ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ได้

โดยสิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ไม่สามารถนำภาษีซื้อไปขอคืนหรือหักออกจากภาษีขายได้ต้องเป็นใบกำกับภาษีซื้อแบบเต็มรูปเท่านั้นถึงจะสามารถทำได้

แต่ล่าสุดทางกรมสรรพากรเอง ก็ได้แจ้งข่าวดีว่า โดยปกติการออกใบกำกับภาษีนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องใส่เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไว้ในใบกำกับภาษีด้วย แต่ถ้าหากเป็นการออกให้บุคคลธรรมดา หรือผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ไม่จำเป็นต้องใส่ครับ ดังนั้น สิ่งที่ธุรกิจเราต้องสำรวจให้ดีก็คือ เราออกใบกำกับภาษีให้กับใคร และเขาต้องการภาษีซื้อไปใช้ในการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือเปล่า ?

ทำผิดอย่าเผลอ : ถ้าหากใบกำกับภาษีของเราไม่ถูกต้องแล้วล่ะก็ ปัญหาจะตกไปยังผู้รับ นั่นคือ หากผิดในสาระสำคัญภาษีซื้อจากใบกำกับภาษีฉบับนั้นจะไม่สามารถใช้หักออกจากภาษีขายได้ (ภาษีซื้อต้องห้าม)

ข้อสาม : ใบกำกับภาษี ต้องออกอย่างถูกเวลา

โดยกฎหมายแล้ว การออกใบกำกับภาษีนั้นกำหนดให้ออกเมื่อเกิด “ความรับผิด” หรือแปลเป็นภาษาคนก็คือ ออกเมื่อมีหน้าที่ต้องออกนั่นเอง โดยกฎหมายได้กำหนดความแตกต่างของความรับผิดในกรณีซื้อสินค้าและให้บริการไว้ ดังนี้

ต้องบอกย้ำไว้อีกทีนะว่า จริงๆแล้ว กฎหมายไม่ได้กำหนดเพียงแค่ความรับผิดในการซื้อและบริการเพียงเท่านั้นนะ กฎหมายยังกำหนดเรื่องของความรับผิดในกรณีต่างๆ อีกมากมายไว้ให้ เพียงแต่ยกตัวอย่างง่ายๆสั้นๆ มาให้ลองดูกัน

ทำผิดอย่าเผลอ : สำหรับข้อนี้ ถ้าหากธุรกิจเราไม่ออกใบกำกับภาษี และส่งมอบเมื่อความรับผิดเกิดขึ้นแล้วล่ะก็ จะถือว่าเรามีความผิด ภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งจำนวนพร้อมเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามมาตรา 89(5) แห่งประมวลรัษฏากร พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องโทษจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 90/2(3)

       เป็นไงบ้าง กับเรื่องของการออกใบกำกับภาษีเห็นไหมว่า ถ้าออกโดยไม่เข้าใจกฎหมายแล้วล่ะก็อาจจะทำให้เรามีปัญหาต้องจ่ายภาษีจาก 1 เป็น 4 เท่า พร้อมทั้งโดนโทษอาญาได้อีกง่ายๆเลยล่ะ สุดท้ายนี้อยากให้จำสั้นๆไว้ว่า ธุรกิจทุกๆธุรกิจต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อ มีสิทธิ-มีข้อความถูกต้อง-และถูกเวลา ซึ่งถ้าหากทำได้แบบนี้จริงๆ รับประกันเลยว่า ต่อให้ถูกตรวจสอบละเอียดแค่ไหน หรือพี่สรรพากรจะแวะมาเมื่อไร แบบนี้ก็ไม่ต้องกลัว

อ้างอิง : https://www.myaccount-cloud.com/Article/Detail/91001

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart