สรุป มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี ช่วง Covid-19

สรุป มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี ช่วง Covid-19

สรุป มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี ช่วง Covid-19 ที่สำนักงานบัญชีสามารถแนะนำให้กับลูกค้าที่ดูแลอยู่ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์และลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ อาทิ

  • ขยายเวลายื่นงบการเงิน
  • เลื่อนประชุมสามัญผู้ถือหุ้น
  • ผ่อนปรนแนวทางการปฏิบัติทางบัญชี
  • ลดอัตราเงินสมทบและขยายเวลานำส่งเงินสมทบประกันสังคม
  • ลดค่าไฟฟ้า-ขยายเวลาชำระเงิน-ผ่อนผันค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ
  • ลดค่าน้ำประปา-ขยายเวลาชำระเงิน
  • มาตรการเงินกู้-สินเชื่อ

ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 มีการปิดเมืองปิดประเทศ ผู้ประกอบการหลายรายได้รับความเดือดร้อน บางรายขาดรายได้ ขาดสภาพคล่อง และอาจจะต้องถึงขั้นปิดกิจการ ทางภาครัฐเองก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 มามากมาย เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤต Covid-19 ไปด้วยกัน มีมาตรการไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับงานบัญชี และเราสามารถบอกต่อแก่ผู้ประกอบการ เพื่อช่วยลดภาระแก่พวกเขาได้ ลองดูสรุปมาตรการผ่อนปรนทางบัญชี ช่วง Covid-19 ที่จะเน้นในเรื่องมาตรการที่กระทบต่องบการเงิน แนวทางปฏิบัติด้านบัญชี มาตรการลดรายจ่าย และมาตรการกู้ยืม สำหรับผู้ประกอบการ

ขยายเวลายื่นงบการเงิน

สำหรับกิจการประเภทห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศประกอบกิจการในไทย กิจการร่วมค้า ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 สามารถยื่นงบการเงินได้ล่าช้าถึง 31 สิงหาคม 2563 โดยไม่ต้องมีหนังสือชี้แจง

เลื่อนประชุมสามัญผู้ถือหุ้น

สำหรับผู้ประกอบการประเภทบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด สมาคมการค้า และหอการค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จนไม่สามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นได้ตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อมีการจัดประชุมเกิดขึ้นแล้ว ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุผลยื่นต่อนายทะเบียนเป็นกรณีไป ข้อสังเกตสำหรับกิจการกลุ่มนี้ คือ ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่ได้กำหนดว่าต้องจัดประชุมภายในวันที่เท่าใด ดังนั้นการส่งงบการเงินและรายชื่อผู้ถือหุ้นก็สามารถนำส่งล่าช้าได้ โดยยึดตามวันที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นนั่นเอง

ผ่อนปรนแนวทางการปฏิบัติทางบัญชี

ในส่วนของการบัญชี คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ก็ได้มีประกาศผ่อนปรนชั่วคราวเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติทางบัญชี 2 ฉบับ ได้แก่

  • แนวปฏิบัติฯ ฉบับที่ 1 เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับกิจการที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

เพื่อช่วยผ่อนปรนให้กับสถาบันการเงินที่อยู่ในกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กิจการที่ให้สินเชื่อลูกค้า เช่น เช่าซื้อ ลีสซิ่ง บัตรเครดิต รวมทั้งกิจการอื่นๆ ทุกกิจการ ที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทางของ ธปท. เพื่อช่วยให้ลูกหนี้เกิดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ

สภาวิชาชีพบัญชีได้ผ่อนปรนทางบัญชีการจัดชั้นลูกหนี้ตามหลักการของ TFRS 9 เช่น

  • การจัดชั้นลูกหนี้ Non-NPL เป็นชั้น 1 (stage1) ได้ทันที โดยไม่ต้องรอติดตามผล
  • การจัดชั้นลูกหนี้ NPL เป็นชั้น 1 (stage 1) โดยให้ติดตามเพียง 3 เดือนหรือ 3 งวด
  • การให้คงลูกหนี้อยู่ชั้นเดิมต่อไปได้ก่อนเข้ามาตรการช่วยเหลือ
  • การยกเว้นการคำนวณหนี้สงสัยจะสูญจากวงเงินที่ยังไม่ได้ใช้ (Unused credit line) เป็นต้น
  • แนวปฏิบัติฯ ฉบับที่ 2 เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

แนวปฏิบัติฉบับนี้ ช่วยผ่อนปรนให้ทุกกิจการที่ใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน และได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ประกอบด้วย

  • TFRS ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน มาตรฐานการรายงานทางการเงิน
  • TFRS ฉบับที่ 13 เรื่อง การวัดมูลค่ายุติธรรม มาตรฐานการรายงานทางการเงิน
  • TFRS ฉบับที่ 16 เรื่อง สัญญาเช่า มาตรฐานการบัญชี
  • TFRS ฉบับที่ 12 เรื่อง ภาษีเงินได้ มาตรฐานการบัญชี
  • TFRS ฉบับที่ 36 เรื่อง การด้อยค่าของสินทรัพย์ มาตรฐานการบัญชี
  • TFRS ฉบับที่ 37 เรื่อง ประมาณการหนี้สินฯ

สภาวิชาชีพบัญชีได้มีมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวทางบัญชีในเรื่องต่าง ๆ เช่น

  • การคำนวณหนี้สงสัยสูญด้วยวิธีอย่างง่าย ให้สามารถใช้ข้อมูลในอดีตโดยไม่ต้องนำข้อมูลคาดการณ์ในอนาคตมาใช้คำนวน
  • การวัดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในตราสารทุนนอกตลาดให้สามารถใช้ยอด ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งวัดด้วยมูลค่ายุติธรรมแล้วโดยการประเมินมูลค่ายุติธรรมในการปิดงบไตรมาสที่ 1 2 3 และงบปี 2563 สามารถใช้ยอดมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 นั้นได้
  • การวัดมูลค่ายุติธรรมสามารถใช้หลักการตามมาตฐาน TFRS 9 ย่อหน้า ข 2.3 ซึ่งเปิดช่องให้สามารถพิจารณาราคาทุน หรือมูลค่าสุทธิตามบัญชีมาใช้ได้ เป็นต้น

ลดอัตราเงินสมทบและขยายเวลานำส่งเงินสมทบประกันสังคม

  • ลดอัตราเก็บเงินสมทบประกันสังคม ของนายจ้างและลูกจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เป็นระยะเวลา 3 เดือน
  • ขยายระยะเวลานำส่งเงินสมทบประกันสังคม ให้แก่นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สำหรับช่วงเวลา 3 เดือนนี้

ลดค่าไฟฟ้า-ขยายเวลาชำระเงิน-ผ่อนผันค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ

มาตรการลด-ขยาย-ผ่อนผันค่าไฟฟ้า จากการไฟฟ้านครหลวง (MEA) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เพื่อช่วยเหลือกิจการ

ลดค่าไฟฟ้า 3% ทุกประเภท 3 เดือน เมษายน – มิถุนายน 2563
ขยายระยะเวลาชำระค่าไฟ 6 เดือน โรงแรม กิจการให้เช่าอาศัย 2 เดือน เมษายน – พฤษภาคม 2563
ผ่อนผันการเก็บค่าไฟฟ้าอัตราขั้นต่ำ กิจการขนาดกลาง – ใหญ่ โรงแรม 3 เดือน เมษายน – มิถุนายน 2563

ลดค่าน้ำประปา-ขยายเวลาชำระเงิน

มาตรการลดค่าน้ำประปาและขยายระยะเวลาชำระเงิน สรุปรายละเอียดดังนี้

มาตรการ ประเภทกิจการ ระยะเวลา รอบบิล
ลดค่าน้ำประปา 3% ทุกประเภท 3 เดือน เมษายน – มิถุนายน 2563
ขยายระยะเวลาชำระค่าน้ำประปา โดยไม่คิดดอกเบี้ย และผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน โรงแรม กิจการให้เช่าอาศัย 2 เดือน เมษายน – พฤษภาคม 2563

มาตรการเงินกู้-สินเชื่อ

ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการต่างๆ มามากมายเพื่อช่วยเหลือกิจการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 หมวดหลักๆ ได้แก่

1) ลดอัตราดอกเบี้ย  

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้ง จนมาอยู่ที่ร้อยละ 0.5

2) เลื่อนและลดภาระการชำระหนี้ 

เลื่อนกำหนดการชำระหนี้ สำหรับธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs

3) ให้สินเชื่อเพิ่มเติม เช่น

  • โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 150,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันการเงินและสถาบันการเงินให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท
  • โครงการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับ 2 ปีแรก กู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึง 30 ธันวาคม 2563
  • โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำส่งเสริมการจ้างงาน วงเงิน 30,000 ล้านบาท จากสำนักงานประกันสังคมร่วมกับสถาบันการเงิน สำหรับกิจการที่ขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่า 80% ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อเป็นระยะเวลา 3 ปี อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3%-5% ต่อปี และคงที่ 3 ปี
  • โครงการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) ให้แก่ธุรกิจ SMEs วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษร้อยละ 2 ต่อปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก นับจากวันที่ได้รับอนุมัติจากธนาคาร รัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยแทนโดยมีเงื่อนไขว่าลูกหนี้ต้องไม่มีสถานะเป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562

4) ปรับโครงสร้างหนี้ 

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ได้ โดยไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย เพื่อให้การผ่อนชำระหนี้สอดคล้องกับรายได้ในอนาคต เช่น

  • ยืดระยะเวลาผ่อน
  • เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน
  • ลดอัตราดอกเบี้ย
  • เปลี่ยนประเภทหนี้ให้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า

อ้างอิง : https://flowaccount.com/blog/accounting-measures-covid-19/

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart