วิธีคํานวณภาษี เกษียณอายุ 2566 และ 2 วิธี ยื่นภาษีเงินได้ก้อนสุดท้าย

วิธีคํานวณภาษี เกษียณอายุ 2566 และ 2 วิธี ยื่นภาษีเงินได้ก้อนสุดท้าย

การคำนวณภาษีถือเป็นเรื่องสำคัญของผู้ที่ทำงานมาทั้งชีวิตเมื่อจะเกษียณออกจากงาน หลายคนคงหวังพึ่งเงินก้อนโตที่จะได้เมื่อเกษียณจากนายจ้าง เพื่อนำมาใช้จ่ายในช่วงบั้นปลายชีวิต แต่รู้หรือไม่ว่าเงินได้ก้อนนี้ต้องเสียภาษีด้วย ยิ่งก้อนโตมากเท่าไหร่ก็ทำให้ต้องเสียภาษีมากขึ้นเท่านั้น หากไม่ได้วางแผน เงินก้อนที่เราตั้งใจจะเก็บไว้ใช้ยามเกษียณก็จะลดลงไปอย่างน่าเสียดาย
การวางแผนภาษีเงินได้ก้อนสุดท้ายเมื่อเกษียณ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์เต็มที่ จำเป็นต้องศึกษาเงื่อนไขและข้อยกเว้นต่าง ๆ ให้เข้าใจก่อนปีภาษีที่ได้รับเงินได้เมื่อเกษียณ
ดังนั้น ก่อนวางแผนภาษี ต้องเข้าใจก่อนว่าเงินได้ก้อนสุดท้ายที่ได้เมื่อเกษียณเป็นเงินได้ประเภทใดบ้าง และมีเงื่อนไขอย่างไร วิธีคํานวณภาษี เกษียณอายุ 2566 ใช้สิทธิอะไรได้บ้างเพื่อช่วยประหยัดภาษี
ก่อนอื่นการแบ่งประเภทเงินได้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
(ก) เงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ และวิธีการเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(ข) เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หากนำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป ส่วนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป และเป็นสมาชิกกองทุนฯ ไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินที่ได้รับทั้งจำนวนจะได้รับยกเว้นภาษี
แต่หากเกษียณอายุมากกว่าที่กองทุนฯ กำหนดไว้ก็จริง แต่ถ้าเป็นสมาชิกกองทุนฯ น้อยกว่า 5 ปี เงินที่นำออกจากกองทุนฯ 3 ส่วน คือ เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบ ผลประโยชน์ที่เกิดจากส่วนของนายจ้างและผลประโยชน์ที่เกิดจากส่วนของลูกจ้างที่จ่ายสะสม เป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(ค) เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายชดเชยให้เมื่อเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด เงินได้ประเภทนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีไม่เกิน 300,000 บาท ส่วนที่เกิน 300,000 บาทจะต้องเสียภาษี
(ง) เงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตาม (ก) ซึ่งปัจจุบันการเลิกจ้างจากเหตุเกษียณ เป็นข้อตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยนายจ้างจะจ่ายเงินก้อนให้ตามนโยบายของบริษัท นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย เงินได้ทั้งจำนวนนี้จึงต้องเสียภาษี และไม่ได้รับยกเว้น 300,000 บาท ตามข้อ (ค)
ประเภทของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
โดยสรุปเงินได้จาก (ก) และ (ข) หากไม่เข้าเงื่อนไขที่ได้รับยกเว้นภาษี จะต้องนำมาคำนวณภาษี เกษียณอายุ 2564 โดยเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมีสิทธิเลือกว่าจะยื่นภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.90/91 หรือจะยื่นใบแนบก็ได้ (ตามตารางข้างต้น)
การยื่นใบแนบมีวิธีการคำนวณภาษีต่างจากแบบ ภ.ง.ด.90/91 คือ การหักค่าใช้จ่ายของเงินได้จะหักได้ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ 7,000 คูณด้วยอายุงานและค่าใช้จ่ายส่วนที่สอง คือ 50% ของเงินได้ที่ใช้เป็นฐานคำนวณ**หลังหักค่าใช้จ่ายส่วนแรกแล้ว
เงินได้ที่ใช้เป็นฐานคำนวณ** คือ เงินที่นายจ้างให้ครั้งเดียวเพราะเหตุอกจากงานตาม(ก)-(ค) นำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน แต่กรณีได้รับเงินตาม (ง) ให้นําผลลัพธ์ระหว่างเงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณ จํานวนปีที่ทํางาน เปรียบเทียบกับกับ เงินเดือนถัวเฉลี่ย 12 เดือนสุดท้ายบวกร้อยละ 10 คูณ จํานวนปีที่ทํางาน มาเป็นฐานในการคำนวณค่าใช้จ่าย
ตัวอย่าง คุณสมศักดิ์ ทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปีในสิ้นปีนี้ ทำงานมาแล้ว 15 ปี ได้รับเงินเดือนคงที่ตลอดปีเดือนละ 100,000 บาท เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่เริ่มทำงาน เมื่อเกษียณจะได้รับจากกองทุนฯ รวม 1,000,000 บาท เงินที่นายจ้างจ่ายให้ตามนโยบายของบริษัท เท่ากับ เงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณ อายุงาน คิดเป็นเงิน 1,500,000 บาท ต้องการทราบวิธีการยื่นใบแนบ
เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน เนื่องจากอายุมากกว่า 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนฯ มากกว่า 5 ปี ดังนั้น จะมีเงินได้ที่ต้องเสียภาษี คือ 2 รายการคือ
(1) เงินเดือน 100,000 x 12 เดือน = 1,200,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91)
(2) เงินชดเชยเมื่อออกจากงาน 1,500,000 บาท (ยื่นใบแนบ ฐานคำนวณค่าใช้จ่าย 1,500,000 บาท)

วิธีคำนวณภาษี เกษียณอายุ 2566 ตามใบแนบ

คํานวณภาษี เกษียณอายุ 2564
เงินได้สุทธิคํานวณภาษี เกษียณอายุ 2566 ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยไม่ได้รับยกเว้นเงินได้สุทธิ 150,000 บาท เหมือนยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ซึ่งจากตัวอย่างคุณสมศักดิ์จะต้องเสียภาษีจากเงินได้เมื่อเกษียณตามใบแนบจำนวน 64,625 บาท โดยคำนวณได้มาจาก
ช่วงเงินได้สุทธิ 0 – 300,000
5%
300,000
15,000
ช่วงเงินได้สุทธิ 300,000 – 500,000
10%
200,000
20,000
ช่วงเงินได้สุทธิ 500,0001 – 750,000
15%
197,500
29,625
รวม
697,500
64,625
สำหรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีรายละเอียดตามตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้านล่าง
เงินได้สุทธิ อัตราภาษี (%)
1 – 300,000 5
300,000 – 500,000 10
500,001 – 750,000 15
750,001 – 1,000,000 20
1,000,001 – 2,000,000 25
2,000,001 – 5,000,000 30
5,000,001 ขึ้นไป 35
ดังนั้น การพิจารณาว่าที่จะยื่นเงินได้เมื่อเกษียณในแบบ ภ.ง.ด.90/91 หรือยื่นใบแนบแบบไหนดีกว่ากัน K-Expert แนะนำเป็น 2 วิธี ดังนี้

วิธีที่ 1

ได้รับเงินได้เมื่อเกษียณตามข้อ (ก)-(ง) พร้อมกับเงินเดือนหรือเงินได้อื่น ๆ ภายในปีภาษีเดียวกัน ถ้านำเงินได้เมื่อเกษียณยื่นรวมกับเงินเดือนหรือเงินได้อื่นในแบบ ภ.ง.ด.90/91 จะทำให้เงินได้สุทธิเพิ่มมากขึ้นและฐานภาษีสูงมากขึ้น
ดังนั้น แนะนำให้นำเงินได้เมื่อเกษียณแยกยื่นใบแนบ จะทำให้หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ช่วยให้ประหยัดภาษีได้มากกว่า นอกจากนี้ยังได้สิทธินำเงินได้เมื่อเกษียณในใบแนบมารวมกับเงินเดือนหรือเงินได้อื่น เพื่อคำนวณสิทธิ์ซื้อกองทุนรวม SFF/RMF ได้ด้วย โดยนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ยื่นในแบบ ภ.ง.ด.90/91 ได้อีกด้วย

วิธีที่ 2

ได้รับเงินได้เมื่อเกษียณในปีภาษีถัดไป โดยปีภาษีนั้นไม่มีเงินเดือนหรือไม่มีเงินได้อื่นที่ต้องเสียภาษี หรือมีเงินได้อื่นแต่ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี
ดังนั้น แนะนำให้นำเงินได้เมื่อเกษียณยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 แม้ว่าจะใช้สิทธิ์หักค่าใช้จ่ายได้น้อยกว่าใบแนบ เพราะได้แค่ 50% ของเงินได้และไม่เกิน 100,000 บาท
แต่สิทธิที่ได้มากกว่าคือการหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ตามสิทธิ์ที่มีได้ เช่น ลดหย่อนส่วนตัว ลดหย่อนบุตร ดอกเบี้ยบ้าน รวมถึงกองทุนรวม SSF/RMF และประกันชีวิต แล้วยังได้รับยกเว้นเงินได้สุทธิ 150,000 บาทอีกด้วย (หากยื่นใบแนบอย่างเดียวจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่ได้) แต่หากท่านใดมีสิทธิลดหย่อนภาษีไม่มากนัก แนะนำให้คำนวณทั้งสองแบบเปรียบเทียบกันแล้วตัดสินใจอีกทีได้
การคำนวณภาษี และการวางแผนภาษี เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์เต็มที่ จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเงื่อนไขและข้อยกเว้นต่าง ๆ ให้เข้าใจก่อนปีภาษีที่ได้รับเงินได้เมื่อเกษียณ เพื่อจะได้วางแผนภาษีได้อย่างถูกต้องและช่วยให้ประหยัดมากขึ้นตามสิทธิที่มีอยู่
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย ทีม K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
หมายเหตุ : ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ
Cr. https://www.ddproperty.com/คู่มือซื้อขาย/2-วิธี-ยื่นภาษีเงินได้ก้อนสุดท้าย-เกษียณ-10876


สนใจวางแผนภาษี จัดทำบัญชี



ปรึกษาฟรี! โทร. 06437464720962895253

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart