รายได้เท่าไรเสียภาษี 2566 พร้อมสรุปวิธีคำนวณภาษีเข้าใจง่าย

รายได้เท่าไรเสียภาษี 2566 พร้อมสรุปวิธีคำนวณภาษีเข้าใจง่าย

รายได้เท่าไรเสียภาษีเท่าไร? เป็นคำถามยอดฮิตในช่วงต้นปี เนื่องจากจะต้องเตรียมยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งก็มีรายละเอียดและการคำนวณหลายรูปแบบ จนบางคน รวมถึงมือใหม่ กังวลว่าจะคำนวณผิดพลาดหรือยื่นผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ ในบทความนี้ ทางไทยรัฐออนไลน์จึงได้รวบรวมข้อมูลรายได้เท่าไรเสียภาษี พร้อมวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคลธรรมดา ฉบับง่ายๆ มาฝาก ดังนี้

รายได้เท่าไรเสียภาษี 2566

สำหรับบุคคลธรรมดาหรือมนุษย์เงินเดือนที่จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อิงจากเงินได้ขั้นต่ำและสถานภาพ ดังนี้
บุคคลโสด

  • เงินได้ประเภทเงินเดือน รายได้ทั้งปีขั้นต่ำ 120,000 บาท
  • เงินได้ประเภทอื่นๆ* รายได้ทั้งปีขั้นต่ำ 60,000 บาท

บุคคลสมรส

  • เงินได้ประเภทเงินเดือน รายได้ทั้งปีขั้นต่ำ 220,000 บาท
  • เงินได้ประเภทอื่นๆ รายได้ทั้งปีขั้นต่ำ 120,000 บาท

รายได้เท่าไรถึงเสียภาษี?

สำหรับวิธีคำนวณรายได้เท่าไรเสียภาษีง่ายๆ ในขั้นตอนแรกจะต้องคำนวณเงินได้สุทธิหรือรายได้ทั้งหมดที่ได้รับ หลังจากหักค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนต่างๆ ดังนี้

“เงินได้สุทธิ = เงินได้ทั้งปี − ค่าใช้จ่าย − ค่าลดหย่อน” 

โดยนำรายได้ทั้งปีหักค่าใช้จ่าย 100,000 บาท หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท** และค่าประกันสังคมตลอดทั้งปี 9,000 บาท กรณีไม่มีค่าลดหย่อนอื่นๆ เพิ่ม ยกตัวอย่างเช่น 360,000-100,000- (60,000+9,000) = 110,000 บาท คือ รายได้สุทธิ

จากนั้นให้คำนวณภาษีได้ง่ายๆ ดังนี้ “ภาษี = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี”

วิธีคำนวณรายได้เท่าไรเสียภาษี 2566

วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกที่มีความซับซ้อนกว่ามีทั้งหมด 2 แบบ ดังนี้
แบบที่ 1 คำนวณภาษีแบบขั้นบันได
การคำนวณภาษีแบบขั้นบันไดจะมีความซับซ้อน แบ่งเป็นทั้งหมด 8 ขั้นบันได สามารถใช้สูตรการคำนวณ ได้แก่

“ภาษี = [(เงินได้สุทธิ – เงินได้สุทธิสูงสุดของขั้น) x อัตราภาษี] + ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น” 

โดยตารางเปรียบเทียบเงินได้สุทธิกับอัตราภาษี มีดังนี้

  • เงินได้สุทธิ 0-150,000 บาท : ได้รับการยกเว้นภาษี : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 0 บาท
  • เงินได้สุทธิ 150,000-300,000 บาท : อัตราภาษี 5% : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 0 บาท
  • เงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท : อัตราภาษี 10% : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 7,500 บาท
  • เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท : อัตราภาษี 15% : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 27,500 บาท
  • เงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท : อัตราภาษี 20% : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 65,000 บาท
  • เงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท : อัตราภาษี 25% : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 115,000 บาท
  • เงินได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาท : อัตราภาษี 30% : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 365,000 บาท
  • เงินได้สุทธิมากกว่า 5,000,000 บาท : อัตราภาษี 35% : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 1,265,000 บาท

แบบที่ 2 คำนวณภาษีแบบเหมา
การคำนวณภาษีแบบเหมาเหมาะสำหรับมือใหม่ หรือผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น ค่าเช่า การขายของออนไลน์ ขายรูปแบบ การทำงานฟรีแลนซ์ โดยจะต้องคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 ซึ่งสามารถคำนวณได้ตามสูตร ดังต่อไปนี้

“ภาษี = (เงินได้ทุกประเภท – เงินเดือน) x 0.005”
ในกรณีที่คำนวณแล้วภาษีไม่ถึง 5,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี

เงินเดือน 18,000 – 20,000 เสียภาษีเท่าไร?

หากมีเงินได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษีบุคคลธรรมดา เนื่องจากรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท ซึ่งคำถามที่ว่าเงินเดือนเท่าไรเสียภาษี คำตอบคือ ผู้มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ไม่เกินเดือนละ 26,583.33 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจากรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาทนั่นเอง

สรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้กี่ปี?

ตามปกติแล้วกรมสรรพากรจะสามารถตรวจสอบการภาษีบุคคลธรรมดาย้อนหลังได้แบ่งเป็น 2 กรณีคือ
1. กรณียื่นแบบภาษี
กรมสรรพากรจะสามารถตรวจสอบภาษีย้อนหลังได้ 2 ปี และหากพบความผิดปกติจะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ 5 ปี
2. กรณีที่ไม่ยื่นแบบภาษี
กรมสรรพากรจะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ 10 ปี เช่นเดียวกับภาษีธุรกิจ

หลังจากที่รู้รายละเอียดและคำนวณรายได้เท่าไรเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว สามารถยื่นการเสียภาษีได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – 31 มีนาคมของทุกปี ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ไปรษณีย์ไทย และยื่นเสียภาษีผ่านทางเว็บไซต์ออนไลน์ของกรมสรรพากรได้ถึงวันที่ 8 เมษายน ทั้งนี้ หากมีรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท แต่รายได้ถึงขั้นต่ำตามกำหนดในข้างต้น จะต้องยื่นภาษีเสมอ

หมายเหตุ
* เงินได้ประเภท 40(1) – 40(6)
** ค่าใช้จ่ายเป็นสิทธิประโยชน์ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินได้ประเภทที่ 1-2 หักเหมา 50% ไม่เกิน 100,000 บาทและค่าลดหย่อนส่วนตัว หักเหมา 60,000 บาท/ปี สำหรับผู้ที่ยื่นภาษีทุกคน

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart