รอบระยะเวลาบัญชีก็สำคัญ

รอบระยะเวลาบัญชีก็สำคัญ

     รอบระยะเวลาบัญชีเป็นกรอบเวลาที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องรู้จักและระมัดระวังในการนำรายได้และรายจ่ายที่เกี่ยวข้องมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล การนำรายได้หรือรายจ่ายมาลงผิดรอบหรือข้ามรอบบัญชีเป็นผลให้การคำนวณกำไรสุทธิผิดพลาดคลาดเคลื่อนและอาจทำให้ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มเนื่องจากเสียภาษีไม่ครบถ้วนได้

      โดยปกติกฎหมายกำหนดรอบระยะเวลาบัญชีไว้ 12 เดือน ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร การนับ 12 เดือน ต้องนับเต็ม 12 เดือน เช่น วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2552 – 14 กุมภาพันธ์ 2553 หรือ 1 มีนาคม 2553 – 28 กุมภาพันธ์ 2554 แต่กฎหมายก็กำหนดให้ในบางกรณีต่อไปนี้ ที่รอบระยะเวลาบัญชีไม่ครบ 12 เดือน หรืออาจจะมากกว่า 12 เดือน ก็ได้

1.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเริ่มตั้งใหม่ จะถือวันเริ่มตั้งถึงวันหนึ่งวันใดเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกก็ได้ (มาตรา 65 ())

      การกำหนดรอบระยะเวลาบัญชีแรกจะกำหนดเวลาเกินกว่ารอบระยะเวลาบัญชีปกติ (12) เดือนไม่ได้ ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าถ้าบริษัทฯ กำหนดรอบระยะเวลาบัญชีแรกไม่ถึง 12 เดือน บริษัทฯ ก็ไม่ได้ถูกบังคับให้ยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล งวด 6 เดือนแรก (ภ.ง.ด.51) แต่อย่างใด ตามมาตรา 67 ตรี แต่ถ้าบริษัทฯ ไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ก็มีผลเท่ากับว่ายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51 )โดยไม่มีหน้าที่ต้องยื่น หากประมาณการกำไรสุทธิในขณะยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ขาดเกินไปร้อยละ 25 ก็ไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มแต่อย่างใด

2.กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขอเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี (มาตรา 65 ())

   บริษัทฯ ที่คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามรอบระยะเวลาบัญชีปกติแล้วต่อมาหากประสงค์จะขอเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีก็สามารถกระทำได้โดยยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีกรมสรรพากร เมื่ออธิบดีกรมสรรพากรอนุญาตก็เปลี่ยนได้ ถ้าอธิบดีกรมสรรพากรอนุญาตให้เปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทฯ จะต้องถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีทีอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้เปลี่ยนได้

ทั้งนี้การขอเปลี่ยนรอบระยะเวลาบัญชีนี้ไม่ว่ากรณีใด รอบระยะเวลาบัญชีจะเกินกว่า 12 เดือนไม่ได้

3.กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกิจการหรือควบเข้ากัน

    บริษัทฯ ที่เลิกกิจการหรือควบเข้ากัน รอบระยะเวลาบัญชีปีที่เลิกกิจการอาจไม่ถึง 12 เดือนก็ได้ และตามประมวลรัษฎากรให้ถือวันที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทรับจดทะเบียนเลิกหรือควบเข้ากันเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี  (มาตรา 72 วรรคสอง และมาตรา 73 )

       มีข้อสังเกตว่า ในระหว่างชำระบัญชี บริษัทฯ ที่เลิกกิจการยังไม่สิ้นสภาพเป็นบริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ...50 และ 51 พร้อมงบการเงินต่อไปจนกว่าเสร็จสิ้นการชำระบัญชี โดยมีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันถัดจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

 

4.การขยายรอบระยะเวลาบัญชี

     กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกิจการโดยชำระบัญชี หากผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการไม่สามารถยื่นรายการและเสียภาษีภายในกำหนดเวลา 150 วัน นับแต่วันที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท รับจดทะเบียนเลิก

ถ้าได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก อธิบดีกรมสรรพากรอาจพิจารณาอนุมัติให้ขยายรอบระยะเวลาบัญชีออกไปอีกก็ได้ (มาตรา 72 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร)

เกร็ดความรู้กับธรรมนิติ : รอบระยะเวลาบัญชีก็สำคัญ

อ้างอิง  : ขอเตือน!!รอบระยะเวลาบัญชีก็สำคัญนะ | Prosoft ibiz

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart