ภาระภาษีจากการขายอสังหาริมทรัพย์

ภาระภาษีจากการขายอสังหาริมทรัพย์

เนื่องจากการจัดเก็บภาษีจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของบุคคลอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้ว่ามีการซื้อขายที่ดินหรือบ้านกันบ่อยๆ แม้รายได้ส่วนนี้จะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรก็ตาม แต่การประเมินภาษีมีกฎเกณฑ์ยุ่งยากซับซ้อน จึงได้แยกภาษีอสังหาริมทรัพย์ไว้ต่างหากเพื่อจะได้ไม่สับสนกับภาษีจากตัวอื่น ดังนั้นต้องมาดูกันว่าอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มานั้นได้มาเช่นไรเพื่อใช้เป็นการคิดคำนวณการเสียภาษี

การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ในทางภาษีอากรโดยเฉพาะกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบ่งการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ออกเป็น 2 กรณี คือ

 

  1. การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยมุ่งในทางค้าหรือหากำไร ได้แก่ กรณีที่ได้อสังหาริมทรัพย์มาโดยการซื้อ แลกเปลี่ยน หรือทำการปลูกสร้างอสังหาริมทรัพย์ และผู้ที่ได้มามีเจตจำนงหรือ มุ่งที่จะค้าหรือหากำไรจากอสังหาริมทรัพย์ มาเพื่อการจัดสรรจำหน่าย การปลูกสร้างอาคาร โรงเรือน อาคารชุด ทาวน์เฮ้าส์ อาคารโรงงาน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดเพื่อจำหน่าย เป็นต้น
  2. การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ได้แก่ กรณีได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยมิได้มีเจตจำนงแต่แรกว่าจะค้าหรือหากำไร จากอสังหาริมทรัพย์นั้น แบ่งเป็น

2.1. อสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับมาโดยทางมรดก หรือได้รับจากการให้โดยเสน่หา

2.2. อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางค้าหรือหากำไรโดยทางอื่นใด นอกจากกรณีรับมรดกหรือการรับให้โดยเสน่หา เช่นการซื้อ หรือแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์มาเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย หรือเพื่อทำการเกษตรกรรม หรือเพื่อใช้เป็นสถานประกอบการหรือใช้ในการประกอบกิจการ หรือได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นต้น

การจัดเก็บภาษีผู้มีหน้าที่จัดเก็บภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์

การจดทะเบียนสิทธินิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นในความรับผิดชอบของกรมที่ดินนั้น แต่เดิมกรมที่ดินมีหน้าที่เฉพาะการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายที่ดินและการจัดเก็บอากรเงินตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น ต่อมาได้มีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากรฉบับที่ 9 (พ.ศ.2525) ขึ้นใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา ผลจากการตราพระราชกำหนดดังกล่าวทำให้ผู้ขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นต้องถูกหักภาษีเงินได้จากขายอสังหาริมทรัพย์นั้นในทันทีที่มาการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ กรมที่ดินจึงกลายเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่นั้นมา

 

บุคคลธรรมดา ภาษีที่ต้องเสียได้แก่

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ
  • อากรแสตมป์

นิติบุคคล ภาษีที่ต้องเสียได้แก่

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล หัก ณ ที่จ่าย
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ
  • อากรแสตมป์

 

Cr. https://www.baannut99.net/th/articles/156532-ภาระภาษีจากการขายอสังหาริมทรัพย์

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart