ทำไมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจึงเป็นรายได้

ทำไมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจึงเป็นรายได้

กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการคำนวณค่าหรือราคาเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา65ทวิ(5)แห่งประมวลรัษฎากร เป็นรายได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

1.ข้อกฎหมายและแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา

บทบัญญัติในประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้ได้มีการกำหนดอยู่ในหมวด 3 ภาษีเงินได้ โดยในหมวดดังกล่าวได้แยกเป็น 3 ส่วน เป็น ส่วน 1 ข้อความทั่วไป ส่วน 2 การเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดา ส่วน 3 การเก็บภาษีจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจาบทบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินอยู่ในความหมายที่ถือเป็นเงินได้อันเข้าลักษณะที่ต้องเสียภาษีในหมวดภาษีเงินได้ (การเก็บภาษีจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ในหมวดของภาษีเงินได้ โดยอยู่ในส่วนที่ 3 ของหมวดภาษีเงินได้)

ดังนั้น กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่อาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน  ก็ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย ซึ่งในการคำนวณหาเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จะต้องคำนวณหากำไรสุทธิที่ได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่าย…ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับที่อาจคิดคำนวณได้เป็นเงินดังกล่าวเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ด้วยก็ต้องถือเป็นรายได้เพื่อนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

2 การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (แบบ ภ.ง.ด.50) กับรายการ “กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน”
เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นมา ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (กำไรสุทธิ) ซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี และรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวให้มีกำหนด 12  เดือนเว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้จะน้อยกว่า 12 เดือนก็ได้ คือ
(ก) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเริ่มตั้งใหม่จะถือวันเริ่มตั้งถึงวันหนึ่งวันใดเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกก็ได้
(ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอาจยื่นคำร้องต่ออธิบดีขอเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีในกรณีเช่นว่านี้ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตสุดแต่จะเห็นสมควรคำสั่งเช่นว่านั้นต้องแจ้งให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ยื่นคำร้องทราบภายในเวลาอันสมควร และในกรณีที่อธิบดีสั่งอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนด

ดังนั้นบริษัทหรือห้างหุ้นหุ้นนิติบุคคลจึงต้องคำนวณหากำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลทันที โดยนำรายได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมาคำนวณเพื่อเสียภาษีโดยคำนวณเป็นแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดไว้ว่า “ภายใน 150 วัน”นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นรายการจำเป็นที่ต้องใช้ในการคำนวณภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีตามแบบที่อธิบดีกำหนดพร้อมทั้งชำระภาษีต่ออำเภอ และอธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดให้แบบ ภ.ง.ด.50 เป็นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ใช้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 16) เรื่องกำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2525

3.การคำนวณรายได้ที่เป็นกำไรอัตราแลกเปลี่ยนจากการคำนวณค่าหรือราคาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา

ต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องคำนวณเป็นรายได้เป็นของรอบระยะเวลาบัญชีใด

การคำนวณรายได้และรายจ่ายตามวรรค 1 ให้ใช้เกณฑ์สิทธิ์โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดแม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นและให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้นแม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นรายได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงต้องคำนวณรายได้ตามเกณฑ์สิทธิ์ตามมาตรา 65 วรรค 2 ซึ่งกำหนดไว้ว่าให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดแม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่า เมื่อกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเกิดจากการคำนวณค่าหรือราคาเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดก็ต้องคำนวณเป็นรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น  ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลรัษฎากรมาตรา 65 อย่างชัดแจ้ง  โดยไม่อาจที่จะนำรายได้ดังกล่าวไปหักออกจากรายจ่ายที่เป็นต้นทุนของทรัพย์สินใดหรือนำไปหักออกจากรายจ่ายอื่นใดได้ เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดให้ทำเช่นนั้นได้

บางส่วนจากบทความ “ทำไมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจึงเป็นรายได้”

อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน… วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 38 ฉบับที่ ฉบับที่ 455  เดือนสิงหาคม 2562

อ้างอิง :

https://www.dst.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=3653:why-exchange-rate-foreign-currency-income&catid=29&Itemid=180&lang=th

 

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart