คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัทกรณีมีชาวต่างชาติเป็นกรรมการ

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัทกรณีมีชาวต่างชาติเป็นกรรมการ

1. การจดทะเบียนบริษัท กรณีมีชาวต่างชาติเป็น “กรรมการ” หรือ “ผู้ถือหุ้น”ชาวต่างชาติ ถือหุ้นในบริษัทไทยได้กี่เปอร์เซ็น?

ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% (คนไทยต้องถือหุ้นอย่างน้อย 51%)

2. กรณีชาวต่างชาติต้องการเป็น “กรรมการ” ต้องมีทุนจดทะเบียนเท่าไหร่?

ต้องมีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาทขึ้นไป (เพราะการขอ Work Permit จะต้องมีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท โดยมีพนักงานคนไทย 4 คน ต่อพนักงานต่างชาติ 1 คน ทั้งนี้ยกเว้นกรณีต่างชาติจดทะเบียนสมรสกับคนไทย ทุน
จดทะเบียนจะลดลงเหลือกึ่งหนึ่งคือ 1 ล้านบาท แต่พนักงานคนไทยต้องมี 4 คนต่อพนักงานต่างชาติ 1 คนเท่าเดิม

3. กรณีชาวต่างชาติเป็น “กรรมการ” ของบริษัท ขั้นตอนการแสดงทุนจดทะเบียนต้องทำอย่างไร?

  1. กรณีต่างชาติเป็น “กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม” —> ผู้ถือหุ้นคนไทยต้องโชว์เงินกับให้ตรงกับจำนวนเงินที่นำมาลงทุนในหุ้นคือตามสัดส่วนที่ตนเองถือหุ้นอยู่
    2. กรณีต่างชาติเป็น “กรรมการที่ไม่มีอำนาจลงนาม” —> ผู้ถือหุ้นคนไทยไม่ต้องโชว์เงิน (แต่ถ้ากรรมการที่ไม่มีอำนาจลงนามท่านนี้เป็นผู้ถือหุ้นด้วย ผู้ถือหุ้นคนไทยต้องโชว์เงิน)

4. กรณีที่มีชาวต่างชาติ เป็น “ผู้ถือหุ้น” ของบริษัท ต้องทำอย่างไร?

ผู้ถือหุ้นคนไทยจะต้องโชว์เงินให้สอดคล้องกับเงินที่นำมาลงทุนในหุ้น (ตามสัดส่วนที่ผู้ถือหุ้นคนไทยถือหุ้นอยู่) ไม่ว่า
ทุนจดทะเบียนเท่าใดก็ตาม โดยทั้งนี้ผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติไม่ต้องโชว์เงิน ถึงแม้ชาวต่างชาติจะถือแค่เพียง 1 หุ้น ผู้ถือหุ้นคนไทยทุกคนก็ต้องโชว์เงินตามสัดส่วนที่ตนเองถือหุ้นอยู่

5. วิธีการแสดงเงินของผู้ถือหุ้นคนไทยต่อเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในกรณีมีต่างชาติถือหุ้น ตอนจดทะเบียนจะต้องทำอย่างไร?

ใช้หนังสือรับรองบัญชีเงินฝากที่ธนาคารออกให้เพื่อแสดงยอดเงินฝากธนาคารของผู้ถือหุ้น โดยหนังสือรับรองเงินฝากของผู้ถือหุ้นสามารถแสดงเงินฝากมากกว่าเงินลงทุนในกิจการตามสัดส่วนที่ตนเองถือหุ้นอยู่ได้ แต่ทั้งนี้ห้ามน้อยกว่า

6. บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายไทย หากมีคนต่างชาติเป็น “กรรมการบริษัท” หรือเป็น “หุ้นส่วนผู้จัดการ” จะทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนั้นมีสถานะเป็นต่างด้าวหรือไม่?

  1. กรณีบริษัทจำกัด – การที่มีคนต่างชาติเป็นกรรมการบริษัทไม่มีผลทำให้บริษัทนั้นมีสถานะเป็นต่างด้าว หากจำนวนหุ้นข้างมากของบริษัทนั้นถือโดยคนไทยคือ 51% ขึ้นไป
    2. กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ – หากมีชาวต่างชาติเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจะทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นมีสถานะเป็นต่างด้าว ถึงแม้คนไทยจะลงทุนข้างมากในห้างหุ้นส่วนก็ตาม

7. ชาวต่างชาติ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ สามารถเซ็นเอกสารตอนจดจัดตั้งบริษัทเลยได้หรือไม่?

ชาวต่างชาติสามารถเซ็นเอกสารได้เลย

8. ถ้าผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย 100% จะต้องโชว์เงินหรือไม่?

โดยปกติถ้าผู้ถือหุ้นในบริษัทเป็นคนไทยทุกคนไม่ต้องโชว์เงินฝากธนาคาร ยกเว้นในกรณีที่ทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นคนไทยทุกคนต้องโชว์เงินฝากตามสัดส่วนที่ตนเองถือหุ้นอยู่

9. ในกรณีที่มีต่างชาติถือหุ้น ชำระทุนจดทะเบียน 25% คนไทยต้องโชว์เงินอย่างไร?

ตัวอย่าง ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท ชำระทุน 25% เท่ากับ 250,000 บาท
สมมุติว่า คุณเอ สัญชาติไทย ถือหุ้น 60% ต้องโชว์เงินโดยให้ธนาคารออกหนังสือรับรองยอดบัญชีเงินฝาก = 250,000 X 60% = 150,000 บาท
คุณบี สัญชาติไทย ถือหุ้น 15% ต้องโชว์เงินโดยให้ธนาคารออกหนังสือรับรองยอดบัญชีเงินฝาก = 250,000 X 15% = 37,500 บาท ส่วนคนต่างชาติ Mr. C ถือหุ้นที่เหลือ 25% ไม่ต้องโชว์เงิน

เกร็ดความรู้กับธรรมนิติ : คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัทกรณีมีชาวต่างชาติเป็นกรรมการ

อ้างอิง : คำถามที่ลูกค้าสอบถามบ่อยเกี่ยวกับการจดทะเบียน (greenprokspforsme.com)

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart