ความแตกต่างระหว่าง “การเช่าและบริการ” รวมถึงความแตกต่างด้านภาษีที่เกี่ยวข้อง

ความแตกต่างระหว่าง “การเช่าและบริการ” รวมถึงความแตกต่างด้านภาษีที่เกี่ยวข้อง

ความแตกต่างระหว่างนิยามของคำว่า “เช่า” และ “บริการ”
ตามมาตรา 537 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้ระบุไว้ว่า อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น

โดยคำขยายความเพิ่มเติมในคำพิพากษาฎีกาที่ 1061/2552 ได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่า การให้เช่าทรัพย์สิน ผู้ให้เช่า ต้องส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าและผู้เช่าจ่ายค่าตอบแทนเป็นค่าเช่า 

นอกจากนั้น ตามมาตรา 553 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังระบุไว้อีกว่า ผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่านั้นเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง และต้องบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย

ดังนั้น คำสำคัญในการยืนยันความหมายของคำว่าเช่า นั่นคือ ส่งมอบการครอบครอง และ ดูแลรักษาทรัพย์สินโดยทั้งหมดนี้ต้องมีระยะเวลาที่ชัดเจน (ตามชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด)

ในขณะที่คำว่า “บริการ” นั้น มาตรา 77(10) แห่งประมวลรัษฏากร ได้ให้ความหมายไว้ว่า การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้หมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเอง ไม่ว่าประการใดๆแต่ทั้งนี้ไม่รวมถึง
(ก) การใช้บริการหรือการนำสินค้าไปใช้ เพื่อประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(ข) การนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์
(ค) การกระทำตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

ซึ่งจากนิยามของคำว่า บริการ จะเห็นว่าครอบคลุมความหมายไว้อย่างกว้าง แต่สิ่งที่แตกต่างชัดเจนของบริการกับเช่าคือ บริการไม่มีสิทธิในการครอบครองสินทรัพย์นั่นเอง

โดยผลกระทบของเรื่องนี้ จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอย่างน้อย 2 มุมมองด้านภาษี นั่นคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่ง
1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม : เนื่องจากบริการอยู่ในขอบข่ายของภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น คำว่าบริการหากเกิดขึ้นในประเทศ
และไม่ใช่การบริการที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะมีเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มกระทบอยู่เสมอ ส่วนทางด้านฝั่งเช่า จะพบว่าการเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ต)
2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย : ผลกระทบของความแตกต่างระหว่าง ค่าเช่า และ บริการ คือ อัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่แตกต่างกัน โดยสำหรับการเช่า อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจะอยู่ 5% ในขณะที่บริการคือ 3% ดังนั้นหากแยกไม่ได้ว่ากรณีไหนเป็นเช่าหรือบริการ เราอาจจะเลือกพิจารณาจากอัตรา ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่มได้ในบางกรณีประกอบกัน

 

บางส่วนจากบทความ “ความแตกต่างระหว่าง “การเช่าและบริการ รวมถึงความแตกต่างด้านภาษีที่เกี่ยวข้อง”

อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน… วารสาร CPD & Account 16 ฉบับที่ 190 เดือนตุลาคม  2562

 

Cr.https://www.dst.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=3712:difference-rent-service-tax&catid=29&Itemid=180&lang=th

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart