การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถูกต้องและประหยัด

การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถูกต้องและประหยัด

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  โดยทั่วไปกฏหมายให้ผู้มีเงินได้ในปีภาษี (ปีปฏิทิน)  ที่ล่วงมาแล้วมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประเมินตนเอง  ณ  ที่ว่าการอำเภอหรือสถานที่อื่นที่กำหมายกำหนด  ภายในวันที่  1  มกราคม  ถึงวันที่  31  มีนาคม ของปีถัดจากปีที่มีเงินได้  (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี)  นอกจากผู้มีเงินได้จะต้องยื่นแบบแสงดรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นรายปีแล้ว บางกรณีกฎหมายยังกำหนดให้ผู้มีเงินได้ต้องชำระภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาด้วยการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี บางกรณีก็กำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ทำการหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย นำส่งต่อกรมสรรพากร และบางกรณีก็กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ตลอดจนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีนั้น ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคลธรรมดาแต่ละปีจึงอาจมีกรณีเสียภาษีเพิ่มเติม  หรือบางกรณีอาจได้รับภาษีคืนก็ได้ เช่น ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเกินกว่าที่ ต้องเสียเป็นต้น ผู้ฝ่าฝืนไม่เสียภาษีอาจถูกประเมินให้เสียภาษีพร้อมด้วยเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่ม ซึ่งอาจถูกดำเนินการอายัดหรือยึดทรัพย์สินขายทอดตลาดนำเงินไปชำระภาษี  ตลอดจนอาจถูกดำเนินคดีอาญาได้
          ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ 1) บุคคลธรรมดา 2) ผู้ถึงแก่ความตาย 3) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง 4) ห้างหุ้นส่วนสามัญ 5) คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล โดยผู้ที่มีเงินได้ดังกล่าวจะต้องยื่นแบบฟอร์มของกรมสรรพากรเพื่อแสดงเงินได้ของตนก็ต่อเมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ 1) ผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานประเภทเงินเดือน/ค่าจ้างที่ได้รับในปีภาษีนั้น ถ้าไม่มีคู่สมรสต้องมีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท แต่ถ้ามีคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายเดียว หรือทั้งสองฝ่ายต้องมีเงินได้พึงประเมินรวมกัน เกิน 120,000 บาท 2) ผู้มีเงินได้จากการทำธุรกิจการค้าทั่วไปที่มิใช่เกิดจากการจ้างแรงงานที่ได้รับในปีภาษีนั้น ถ้าไม่มีคู่สมรสต้องมีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000  บาท  แต่ถ้ามีคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายต้องมีเงินได้พึงประเมินรวมกัน เกิน 120,000 บาท  3) กองมรดกของผู้ตายที่ยังไม่แบ่งเกิน 60,000 บาท  4)  ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเกิน 60,000 บาท 5) วิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมขนเฉพาะส่วนที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งมีเงินได้เกิน  1,800,000 บาท หรือมีเงินได้เกิน 60,000  บาท แต่ไม่เกิน 1,800,000 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ประกาศ
สำหรับการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อให้สามารถคำนวณภาษีและใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆทางภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย  ควรเริ่มต้นจากการศึกษาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่ระบุไว้ในประมวลรัษฎากร (ประมวลรัษฎากรคือชื่อของกฎหมายภาษีอากรฉบับหนึ่ง ที่ระบุการจัดเก็บภาษี  5 ประเภท ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ โดยกฎหมายนี้ให้อำนาจ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เป็นผู้จัดเก็บภาษีดังกล่าว) โดยกรมสรรพากรได้นำความรู้เรื่องภาษีต่างๆ จากประมวลรัษฎากรรวมทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาแสดงไว้ในเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th) ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและถูกต้องในการนำมาใช้ในการคำนวณภาษีในแต่ละปี  อีกประการหนึ่ง หลักเกณฑ์ต่างๆ ในการเสียภาษีนั้น ทางราชการมักมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขและเกณฑ์การคำนวณภาษีในแต่ละปีอยู่ตลอดเวลา  ดังนั้นบุคคลธรรมดาที่ต้องการได้รับประโยชน์จากการวางแผนภาษีเงินได้  จึงละเลยไม่ได้ที่จะต้องศึกษาความรู้เกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละปีให้เข้าใจก่อนทำการวางแผนเสมอ โดยหลักเกณฑ์สำคัญที่ต้องทำความเข้าใจก่อนทำการวางแผนภาษี  คือหลักเกณฑ์ของรายการต่างๆ ที่นำมาใช้ในการคำนวณภาษี ประกอบด้วยรายการตามสมการคำนวณภาษีดังนี้
สมการที่  1  :  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระ  =  เงินได้สุทธิ  x  อัตราภาษี
สมการที่  2  :  เงินได้สุทธิ  =  เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
จากสองสมการข้างต้นอธิบายได้ว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระในสมการที่ 1 คำนวณจากเงินได้สุทธิคูณกับอัตราคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ส่วนเงินได้สุทธิก็คำนวณได้จาก การนำเงินได้พึงประเมินมาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนด  ดังที่แสดงในสมการที่ 2 ดังนั้น เมื่อรวมสองสมการเข้าด้วยกัน  จะได้สมการคำนวณภาษี สมการที่ 3  ซึ่งมีรายการต่างๆที่ใช้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ในสมการเดียวกัน ดังนี้
สมการที่  3 : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระ = (เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

คำว่าเงินได้พึงประเมินที่ใช้คำนวณเงินได้สุทธิดังกล่าว  เป็นชื่อเรียกตามกฎหมายของเงินได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา   ประกอบด้วย 1)  เงินที่ได้รับจริง  2)  ทรัพย์สินที่ได้รับจริงและสามารถคิดคำนวณเป็นเงินได้  3)  ประโยชน์ที่ได้รับจริงที่สามารถคิดคำนวณเป็นเงินได้  4)  เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้  และ 5)  เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด  หมายถึงสิทธิหรือประโยชน์อันมีมูลค่าเป็นเงินที่ผู้เสียภาษีได้รับเนื่องจากได้เสียภาษีล่วงหน้าไว้แล้ว หรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ทั้งนี้เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษียังต้องพิจารณาถึงแหล่งที่มาของเงินได้ด้วย ซึ่งอาจมาจากแหล่งเงินได้ภายในประเทศหรือแหล่งเงินได้ภายนอกประเทศ ว่าเข้าตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เช่น กฎหมายกำหนดว่า ผู้มีเงินได้อันเกิดจากแหล่งในประเทศ จากการมีหน้าที่งานที่ทำในประเทศ หรือกิจการที่ทำในประเทศ หรือกิจการของนายจ้างในประเทศ หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า เป็นต้น) มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามที่ประมวลรัษฏากรกำหนดไว้เสมอ เว้นแต่จะมีข้อยกเว้นตามกฎหมาย  ไม่ว่าเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วนั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ  และไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม  เป็นต้น รายละเอียดในประเด็นนี้สามารถเข้าไปอ่านได้ในเว็บไซต์ของกรมสรรพากรเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ เรื่องของเงินได้ยังพบว่า มีเงินได้อีกหลายกรณีที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย  ไม่ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณภาษี  ได้แก่ การยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร การยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 การยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับต่างๆ เป็นต้น เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามที่ระบุในเว็บไซต์ของกรมสรรพากรมีถึง 120 รายการ เช่น ดอกเบี้ยสลากออมสิน หรือดอกเบี้ยเงินฝากออมสินของรัฐบาลเฉพาะประเภทฝากเผื่อเรียก ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์ บำนาญพิเศษ บำเหน็จพิเศษ บำนาญตกทอด หรือบำเหน็จตกทอด เงินประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนได้รับจากกองทุนประกันสังคม เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกติใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย การยกเว้นเงินได้ที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้พิการ เป็นต้น ผู้ที่ต้องการวางแผนภาษีจึงควรเข้าไปอ่านรายละเอียดในเว็บไซต์ของกรมสรรพากร เพื่อพิจารณาว่าเงินได้ที่ตนได้รับเข้าข่ายเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นตามรายการที่กฎหมายระบุหรือไม่  หากไม่แน่ใจ  สามารถสอบถามกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่ประจำอยู่ตามเขตต่างๆ อีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าเงินได้ประเภทนั้นๆ ต้องนำมารวมในการยื่นแบบแสดงเงินได้ต่อกรมสรรพากรหรือไม่  ซึ่งกรณีนี้เป็นกรณีหนึ่งของการใช้สิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดให้เห็นได้ว่าจากสมการที่ 3 ข้างต้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระมีรายการสำคัญที่ควรทำความเข้าใจอยู่ 4 รายการ คือ 1) ประเภทของเงินได้พึงประเมิน  2) รายการที่หักค่าใช้จ่ายได้ตามประเภทของเงินได้พึงประเมิน 3) รายการค่าลดหย่อนที่กฎหมายยอมให้นำมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษี และ 4)  อัตราคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ซึ่งแต่ละรายการมีรายละเอียดโดยสรุปจากเว็บไซด์กรมสรรพากร (www.rd.go.th) อยู่ในตารางที่ 1 – ตารางที่ 3 ดังนี้

ตารางที่  1  ประเภทเงินได้พึงประเมินและเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายแยกตามประเภทของเงินได้พึงประเมิน

ประเภทของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เกณฑ์การหักค่าใช้จ่าย
(1)  เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง เป็นต้น หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ  50  ของเงินได้แต่รวมกันแล้วไม่เกิน  100,000  บาท
(2)  เงินได้เนื่องจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เบี้ยประชุม เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ  50  ของเงินได้แต่รวมกันแล้วไม่เกิน  100,000  บาท
(3)  ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่นเป็นต้น หักค่าใช้จ่ายไม่ได้ ยกเว้นค่าแห่งลิขสิทธิ์หักได้ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
(4)  ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน  เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น เป็นต้น กฎหมายไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
(5) เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เช่น บ้าน อพาร์ตเม้นท์ คอนโดมิเนียม ที่ดิน รถยนต์ เป็นต้น หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรหรือหักเป็นการเหมาในอัตราที่กฎหมายกำหนด เช่นบ้านหักได้ร้อยละ 30   ที่ดินใช้ในการเกษตรหักได้ร้อยละ 20   ที่ดินไม่ใช้ในการเกษตรหักได้ร้อยละ 15 ยานพาหนะหักได้ร้อยละ 30 เป็นต้น
(6)  ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้ หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรหรือหักเป็นการเหมาในอัตราที่กำหนด โดยเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลป ให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 60 เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระนอกนั้นหักได้ร้อยละ 30
(7)  ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ หักตามความจำเป็นและสมควรหรือหักเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60 (ตั้งแต่ปีภาษี 2560)
8) ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1  ถึงประเภทที่7 แล้ว หักตามความจำเป็นและสมควร หรือ หักเป็นการเหมาในอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 60
เงินได้การแสดงของนักแสดงละครภาพยนต์ นักร้อง นักดนตรี หรือนักแสดงเพื่อการบันเทิงใดๆ ส่วนไม่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ  60 ส่วนที่เกิน 300,000  บาท  ร้อยละ  40  (การหักค่าใช้จ่ายทั้งสองกรณี รวมกันต้องไม่เกิน 600,000  บาท)

ตารางที่  2  รายการลดหย่อนและเกณฑ์การหักลดหหย่อนของแต่ละรายการ

รายการลดหย่อน เกณฑ์การหักค่าลดหย่อน
ผู้มีเงินได้ สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท คู่สมรสของผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
การหักลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรม คนละ 30,000 บาท  และสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่สองเป็นต้นไปที่เกิดในหรือหลังปี พ.ศ. 2561 ให้หักลดหย่อนได้เพิ่มอีกคนละ 30,000  บาท
ค่าเบี้ยประกันชีวิตเฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
ค่าเบี้ยประกันสุขภาพผู้มีเงินได้
ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท แต่รวมกันไม่เกิน 100,000  บาท

ค่าเบี้ยประกันชีวิตในกรณีทำประกันชีวิตแบบบำนาญ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 15  ของเงินได้ และสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามที่ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ตามจำนวนที่จ่ายจริง
ค่าลดหย่อนบิดามารดา ตามเงื่อนไขที่กำหนด คนละ 30,000  บาท
ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา สามีหรือภริยา หรือผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ คนละ 60,000  บาท
เงินบริจาคทั่วไป ร้อยละ  10  ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อนแล้ว
เงินบริจาคเพื่อการศึกา กีฬา พัฒนาสังคมและโรงพยาบาลรัฐ ได้สิทธิ  2  เท่า แต่คำนวณแล้วต้องไม่เกินร้อยละ  10  ของรายได้หลังหลักค่าลดหย่อนแล้ว

ตารางที่  3  บัญชีแสดงอัตราภาษีอากรแบบก้าวหน้า  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สำหรับปีภาษี 2563
เงินได้สุทธิ
(ส่วนที่เกิน…..-…….)
อัตราภาษีร้อยละ ภาษีสะสม
0-300,000
300,001-500,000
500,000-750,000
750,000-1,000,000
1,000,000-2,000,000
2,000,000-5,000,000
5,000,000  ขึ้นไป
5
10
15
20
25
30
35
7,500
27,500
65,000
115,000
365,000
1,265,000

ที่มา : กลุ่มนักวิชาการสรรพากร. ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร 2564, หน้า 68

          แนวทางการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการวางแผนภาษีเพื่อให้ภาษีที่ต้องชำระ ถูกต้อง ครบถ้วน และใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่กฎหมายให้สิทธิ์แก่ผู้เสียภาษี  โดยแนวทางการวางแผนตามลักษณะนี้ ย่อมทำให้เกิดการประหยัดค่าภาษีที่ต้องชำระได้  การวางแผนใช้แนวคิดตามหลักของคณิตศาสตร์เข้ามาช่วย โดยนำสมการคำนวณภาษีที่ต้องชำระมาพิจารณา (ดูสมการที่ 1 – สมการที่ 3 ประกอบ) ทำให้มองเห็นว่าจากสมการที่ 1 ถ้าสามารถลดเงินได้สุทธิลงได้  ภาษีเงินได้ที่ต้องชำระก็สามารถลดลงได้  ซึ่งเงินได้สุทธิจะลดลงได้ (ดูสมการที่ 2)  ก็ต้องพยายามทำให้เงินได้พึงประเมินที่ใช้คำนวณภาษีลดลง  หรือใช้การเพิ่มค่าใช้จ่าย/เพิ่มค่าลดหย่อน หรือเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า  ซึ่งสามารถสรุปแนวทางการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในบทความนี้ตามสมการรวม สมการที่  3 ได้  4 แนวทางคือ 1)  การทำให้เงินได้พึงประเมินที่ใช้คำนวณภาษีลดลง 2)  การเพิ่มค่าใช้จ่ายของประเภทเงินได้พึงประเมิน 3)  การเพิ่มรายการค่าลดหย่อน และ 4)  การเลือกเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า
1.  จากที่กล่าวข้างต้น  แต่ละแนวทางมีรายละเอียด  ดังนี้ 1.  การทำให้เงินได้พึงประเมินที่ใช้ในการคำนวณภาษีลดลง  อาจทำได้หลายกรณี   ได้แก่  แยกยื่นภาษี  เพราะกรณีสามีและภรรยามีเงินได้ทั้งคู่ หากนำมารวมกันคำนวณภาษี จะทำให้เสียภาษีในอัตราที่สูง  เนื่องจากภาษีที่ใช้คำนวณ (ดูตารางที่ 3  ประกอบ) เป็นภาษีอัตราก้าวหน้า  ถ้าต่างฝ่ายต่างแยกยื่น  ซึ่งกฎหมายยอมให้สามีและภรรยาสามารถแยกยื่นได้  จะทำให้สามารถเสียภาษีในอัตราที่ต่ำลงได้เช่น  สมมติว่าสามีและภรรยามีเงินได้สุทธิรวมกันเท่ากับ 800,000 บาท เมื่อนำมาคำนวณภาษีตามตารางที่  3 จะได้ว่าทั้งคู่ต้องเสียภาษีเท่ากับ 70,000 บาท แต่ถ้าแยกเงินได้สุทธิเป็นของสามี  500,000 บาท ของภรรยา 300,000 บาท แล้วคำนวณภาษีใหม่ ตามตารางที่ 3 จะพบว่า สามีจะเสียภาษีเงินได้เท่ากับ 25,000 บาท ส่วนภรรยาจะเสียภาษีเงินได้เท่ากับ 2,500 บาท  รวมภาษีเงินได้ที่ทั้งคู่ต้องชำระ (25,000 + 2,500) เท่ากับ 27,500 บาท ซึ่งลดลงจากเดิมที่รวมเงินได้ของทั้งคู่คำนวณภาษีและยื่นภาษีรวมกัน  เห็นได้ว่าการแยกยื่นภาษีสามารถประหยัดเงินที่ต้องเสียภาษีลงได้ (70,000 – 27,500) เท่ากับ 42,500 บาท เป็นต้น  หรืออาจใช้วิธีแยกหน่วยภาษีออกเป็นหลายๆ หน่วยเพื่อกระจายเงินได้ไปตามหน่วยภาษี ทำให้แต่ละหน่วยเสียภาษีในอัตราที่ต่ำลงได้  เช่น นายแดงเงินได้จากงานประจำเดือนละ 50,000 บาท กับมีรายได้จาการทำงานพิเศษนอกเนือจากงานประจำอีกเดือนละ 20,000 บาท ถ้าไม่แยกหน่วยภาษี นายแดงต้องนำเงินได้ทั้งหมดมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้นายแดงต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง  แต่ถ้านายแดงนำเงินได้เฉพาะเงินได้ประจำเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แล้วแยกเงินได้พิเศษมาจดทะเบียนตั้งเป็นนิติบุคคลในรูปวิสาหกิจขนาดย่อม (SME) เงินได้พิเศษนี้จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงตามหลักฐานในการทำบัญชีและสามารถหักภาษีเงินได้นิติบุคคลของวิสาหกิจขนาดย่อมซึ่งมีอัตราที่ต่ำมากได้ก็จะทำให้เงินได้ทั้งหมดของนาแดงสามารถประหยัดภาษีที่ต้องชำระลงได้
2.  การเลือกเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า  ทำได้โดยนำเงินได้บางประเภท เช่น เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)  ที่กฎหมายยอมให้เลือกเสียภาษีในอัตราหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นภาษีสุดท้าย (Final Tax) ไม่นำมารวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีอีกตอนสิ้นปี  หากการวางแผนภาษีพบว่า  การเลือกไม่นำมารวมกับรายได้อื่นจะมีผลดีทางภาษีมากกว่า กล่าวคือทำให้สามารถประหยัดภาษีเงินได้ที่ต้องชำระลงได้  เงินได้เหล่านั้นได้แก่ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ซึ่งหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วในอัตราร้อยละ 15 เงินปันผลจากการลงทุนในบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เงินปันผลจากการลงทุนในกองทุนรวมที่เลือกเสียภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 เป็นต้น
3. การเพิ่มค่าลดหย่อน  ทำได้โดยเลือกใช้สิทธิประโยชน์จากรายการลดหย่อนที่กฎหมายกำหนดให้มากขึ้น เช่น ในปีภาษีปัจจุบัน (ปีภาษี 2563)  ในตารางที่ 2 มีรายการลดหย่อนที่สามารถนำไปหักเงินได้สุทธิได้หลายรายการ เช่น ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนบิดามารดา ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือประกันชีวิต ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เป็นต้น รายการเหล่านี้จะทำให้ค่าลดหย่อนที่ไปหักเงินได้พึงประเมินเพิ่มมากขึ้น ทำให้เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษีลดลง เมื่อคำนวณภาษีเงินได้ที่ต้องชำระจึงทำให้สามารถประหยัดภาษีได้
4. การเพิ่มค่าใช้จ่าย ทำได้โดยพิจารณาเงินได้ที่ได้รับว่าเข้าข่ายเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่  เพราะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1)  และ (2) ซึ่งเป็นเงินได้จากงานประจำ  และหน้าที่งานหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50  แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เท่านั้น แต่มีเงินได้ประเภทอื่นๆ  ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายเหมาได้มากกว่า (ดูตารางที่ 1 ประกอบ) ได้แก่ เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระดังนั้นถ้าผู้เสียภาษีมีเงินได้หลายประเภทก็จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น เช่น นายแดงทำงานเป็นวิศวกรเครื่องกลให้บริษัทแห่งหนึ่ง  และมีคุณสมบัติและใบแสดงวุฒิที่สามารถควบคุมหม้อน้ำได้ ปรากฎว่าบริษัทในเครือได้มาว่าจ้างให้นายแดงตรวจสอบหม้อน้ำให้  ทำให้นายแดงมีเงินได้จากการรับตรวจสอบหม้อน้ำด้วย กรณนี้เงินได้ของนายแดงจะมี 2 ประเภท คือ จากเงินเดือนประจำตามมาตรา 40(1) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50  แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนเงินได้จากการรับตรวจสอบหม้อน้ำเป็นเงินได้ตามมาตรา  40(6)  สามารถหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ร้อยละ 30  ทำให้ค่าใช้จ่ายที่นำไปหักเงินได้สุทธิเพิ่มมากขึ้น เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษีก็จะลดลง ส่งผลให้ภาษีที่คำนวณได้ลดลงจากเดิมได้ เป็นต้น

           ตัวอย่าง  การเพิ่มการหักค่าใช้จ่าย  –  นายปทุมมีอาชีพเป็นวิศวกรเครื่องกล ทำงานประจำในบริษัทอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง  ได้รับเงินเดือน 100,000 บาท/เดือน จ่ายประกันสังคม 9,000 บาท และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ร้อยละ 3 ของเงินเดือน นอกจากนี้ นายปทุมยังรับจ้างตรวจหม้อน้ำให้กับบริษัท ในเครือด้วยเพราะมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด  มีเงินได้จากการรับจ้างอีกปีละ 500,000 บาท ที่ผ่านมาบริษัทในเครือออกใบหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(2) ด้วยเข้าใจว่าเป็นหน้าที่งานเกี่ยวเนื่องกัน จนมีผู้แนะนำนายปทุมให้แจ้งบริษัทเหล่านั้นว่าการรับจ้างตรวจหม้อน้ำให้บริษัทอื่นๆ เป็นการกระทำในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ เป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(6) ซึ่งจะทำให้นายปทุมสามารถหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ร้อยละ 30
ก่อนการวางแผนภาษี
เงินได้พึงประเมิน = เงินเดือน + เงินได้พิเศษ = 1,200,000 + 500,000 = 1,700,000 บาท
หักค่าใช้จ่าย = ร้อยละ 50 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท = 100,000 บาท
หักค่าลดหย่อน = ผู้มีเงินได้ + ค่าประกันสังคม + เงินจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ = 60,000 + 9,000 + 36,000 = 105,000 บาท
เงินได้สุทธิ =  เงินได้พึงประเมิน– ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน =  1,700,000 –  100,000 –  105,000 =  1,495,000 บาท
คำนวณภาษีที่ต้องชำระ = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = 238,750 บาท
เงินได้คงเหลือ = เงินได้พึงประเมิน – ภาษีที่ต้องชำระ = 1,700,000 – 238,750 = 1,461,250 บาท
อัตราภาษีที่แท้จริง =  (ภาษีที่ต้องชำระหารด้วยเงินได้พึงประเมิน) x 100 =  (238,750/1,700,000) x 100 =  14.04%
หลังวางแผนภาษี – โดยนำเงินได้พิเศษจากการรับจ้างไปเป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(6) แทนเงินได้พึงประเมิน = เงินเดือน + เงินได้พิเศษ = 1,200,000 + 500,000 = 1,700,000 บาท
หักค่าใช้จ่าย = ร้อยละ 50 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท บวก ค่าใช้จ่ายเหมาร้อยละ 30 ของเงินได้รับจ้าง = 100,000 + 150,000 = 210,000 บาท
หักค่าลดหย่อน = ผู้มีเงินได้ + ค่าประกันสังคม + เงินจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ= 60,000 + 9,000 + 36,000 = 105,000 บาท
เงินได้สุทธิ =  เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย –  ค่าลดหย่อน =  1,700,000 –  210,000 –  105,000 =  1,385,000 บาท
คำนวณภาษีที่ต้องชำระ = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = 211,250 บาท
เงินได้คงเหลือ = เงินได้พึงประเมิน – ภาษีที่ต้องชำระ = 1,700,000 – 211,250 = 1,488,750 บาท
อัตราภาษีที่แท้จริง = (ภาษีที่ต้องชำระหารด้วยเงินได้พึงประเมิน) x 100 =  (211,250/1,700,000) x 100    =  12.43%

สรุปเป็นตารางเปรียบเทียบตารางที่ 4  ได้ว่า หลังวางแผนภาษีโดยนำเงินได้พิเศษจากการรับจ้างไปเป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(6) แทน ทำให้หักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มมากขึ้น  เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ ภาษีที่ต้องชำระลดลง  นั่นคือเกิดการประหยัดในภาษีที่ต้องจ่าย  ส่งผลให้เงินได้คงเหลือหลังหักภาษีเพิ่มขึ้นเท่ากับภาษีที่ต้องชำระที่ลดลง และอัตราภาษีที่แท้จริงลดลงไปร้อยละ 1.61

ตารางที่  4  ตารางเปรียบเทียบ ภาษีที่ต้องชำระ  เงินได้คงเหลือหลังหักภาษี  และอัตราภาษีที่แท้จริง  ก่อนและหลังวางแผนภาษี  กรณีตัวอย่าง การเพิ่มการหักค่าใช้จ่าย

รายการ ก่อนวางแผนภาษี หลังวางแผนภาษี การเปลี่ยนแปลงหลังวางแผนภาษี
ภาษีที่ต้องชำระ 238,750 211,250 ลดลง 238,750 – 211,250 = 27,500
เงินได้คงเหลือหลังหักภาษี 1,461,250 1,488,750 เพิ่มขึ้น 1,461,250 – 1,488,750 =27,500
อัตราภาษีที่แท้จริง 14.04% 12.43% ลดลง 14.04 – 12.43 = 1.61%

สรุป
การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  คือการกำหนดแนวทางปฎิบัติในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้เสียภาษีได้อย่างถูกต้องและสามารถประหยัดภาษีได้สูงสุด  ซึ่งไม่ใช่แนวทางการหลีกเลี่ยงภาษี  แต่เป็นการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ มาคำนวณภาษีอย่างถูกต้องทำให้ภาษีที่ต้องจ่ายจริงสามารถลดลงจากเดิมที่ไม่ได้วางแผนภาษีได้  เรียกว่าทำให้เกิดการประหยัดในภาษีที่ต้องชำระอย่างถูกกฎหมาย  ซึ่งเป็นประโยชน์หลักของการวางแผนภาษี  โดยแนวทางการวางแผนที่สามารถลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระ ในบทความนี้ ประกอบด้วย แนวทางการลดเงินได้พึงประเมิน  การเพิ่มค่าใช้จ่าย/ค่าลดหย่อน และการเลือกเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า  ตามที่ยกตัวอย่างข้างต้น  จึงหวังว่าบทความนี้  จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษีเงินได้และช่วยให้ผู้วางแผนภาษีมีความเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับ  จากสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายกำหนดให้มากยิ่งขึ้น

 

Cr. https://www.spu.ac.th/fac/account/th/content.php?cid=24373


สนใจวางแผนภาษี จัดทำบัญชี


 


ส่วนหนึ่งของผลงานดูแลลูกค้าที่มอบความไว้วางใจให้แอคโปรแท็ค (AccProTax) ดูแล จนลูกค้าประทับใจในบริการ และยกนิ้วให้

 

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart