จะต้องเสียภาษีการรับมรดกเท่าไรถ้าได้มรดกเป็นบ้าน-ที่ดิน

จะต้องเสียภาษีการรับมรดกเท่าไรถ้าได้มรดกเป็นบ้าน-ที่ดิน

เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก ซึ่งยังคงเกิดความเข้าใจผิด ทำให้มีผู้ที่รับมรดกจ่ายภาษีทั้งที่ไม่จำเป็น ผู้ที่มีเกณฑ์ได้รับมรดกจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจความรู้เกี่ยวกับภาษีมรดกปัจจุบัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง

ภาษีมรดกคืออะไร

ภาษีมรดกปี 2562 ไม่ได้ปรับรายละเอียดจากปีที่ประกาศใช้ใน พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก โดยยังคงความหมายภาษีมรดกไว้ว่า เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ได้รับมรดกที่มีมูลค่าสุทธิรวมเกิน 100 ล้านบาท มีชื่อเรียกแบบเต็มว่า ภาษีการรับมรดก โดยทรัพย์สินมรดกที่จะต้องเสียภาษีมีทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่

  • อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านหรือที่ดิน
  • หลักทรัพย์ เช่น ตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตร
  • เงินฝาก
  • ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน เช่น รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์
  • ทรัพย์สินทางการเงินอื่น ๆ (หากแต่มีการประกาศเพิ่มในอนาคต)

ซึ่งอัตราค่าเก็บภาษีมรดกแบ่งออกเป็น 5% และ 10% ตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรตั้งไว้

กรณีใดบ้างที่ต้องเสียภาษีมรดก

จากที่กล่าวข้างต้นถึงความเข้าใจผิดเรื่องการเสียภาษีมรดก ไม่ใช่ทุกกรณีที่ต้องเสียภาษีนี้ แต่ผู้ได้รับมรดกจะต้องเสียภาษีเมื่อทรัพย์สินมรดกที่ได้รับ มีมูลค่าสุทธิเกิน 100 ล้านบาท โดยเสียภาษีมรดกในอัตราภาษีคงที่ และแบ่งออกเป็น 2 อัตราดังที่ระบุไว้ ดังนี้

  • บุคคลทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องทางสายเลือดกับผู้ให้มรดก จะต้องเสียภาษีมรดกในอัตราคงที่ 10%
  • หากผู้รับมรดกเป็นบุพการี เช่น พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือผู้สืบสันดาน เช่น บุตรหลาน จะได้รับการลดหย่อนอัตราภาษี เหลือเพียงแค่ 5% เท่านั้น

กรณีใดบ้างที่ได้รับการยกเว้นภาษีมรดก

  • กรณีที่ผู้ได้รับมรดกเป็นสามีหรือภรรยาของผู้ให้มรดก และได้มีการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้นั้นจะได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีมรดก
  • หากยกมรดกให้กับหน่วยงานของรัฐ มรดกนั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีมรดก ไม่ต้องจ่ายแม้แต่บาทเดียว

วิธีการคำนวณภาษีมรดก

เมื่อเป็นเรื่องของตัวเลขและการคำนวณ หลายคนก็พากันส่ายหน้า โดยเฉพาะภาษีมรดกที่เป็นจำนวนเงินหลักร้อยล้าน แต่จริง ๆ แล้ว หลักการคำนวณภาษีไม่ได้มีความซับซ้อนอย่างที่คิด และสามารถคำนวณได้ด้วยตนเอง ดูตัวอย่างการคำนวณอัตราภาษีมรดกที่ดินในแบบ 5% และ 10% เพื่อความเข้าใจมากขึ้น

การคำนวณภาษีมรดกในอัตราคงที่ 5% สำหรับบุพการีและผู้สืบสันดาน

ขั้นตอนที่ 1 คำนวณหามูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี

สูตร     มูลค่ามรดกสุทธิ – 100 ล้านบาท* = มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี
           *มูลค่ามรดกที่ไม่ต้องเสียภาษีตาม พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก

ตัวอย่าง
นาง ก. ผู้ซึ่งเป็นมารดาของเจ้าของมรดก ได้รับมรดกเป็นที่ดินมูลค่าสุทธิ 150 ล้านบาท โดยที่เจ้าของมรดกไม่มีหนี้สินใด ๆ มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี คือ 150,000,000 – 100,000,0000 = 50,000,000 บาท

ขั้นตอนที่ 2 คำนวณหาภาษีมรดก

สูตร     มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี x อัตราภาษีคงที่ 5% = ภาษีมรดก

ตัวอย่าง
จากมูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษีของนาง ก. คือ 50 ล้านบาท นาง ก. ต้องเสียภาษีมรดกอัตราคงที่ 5% จะเท่ากับ 50,000,000 x 5% = 2,500,000 บาท

สรุปได้ว่า นาง ก. จะต้องเสียภาษีมรดกเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2 ล้าน 5 แสนบาท

การคำนวณภาษีมรดกในอัตราคงที่ 10% สำหรับบุคคลทั่วไป

ขั้นตอนที่ 1 คำนวณหามูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี

สูตร     มูลค่ามรดกสุทธิ – 100 ล้านบาท* = มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี
*มูลค่ามรดกที่ไม่ต้องเสียภาษีตาม พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก

ตัวอย่าง
นาย ข. ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับเจ้าของมรดก ได้รับมรดกเป็นที่ดินมูลค่าสุทธิ 150 ล้านบาท โดยที่เจ้าของมรดกไม่มีหนี้สินใด ๆ มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี คือ 150,000,000 – 100,000,0000 = 50,000,000 บาท

ขั้นตอนที่ 2 คำนวณหาภาษีมรดก

สูตร       มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษี x อัตราภาษีคงที่ 10% = ภาษีมรดก

ตัวอย่าง
จากมูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษีของนาย ข. คือ 50 ล้านบาท นาย ข. ต้องเสียภาษีมรดกอัตราคงที่ 10% จะเท่ากับ 50,000,000 x 10% = 5,000,000 บาท

สรุปได้ว่า นาย ข. จะต้องเสียภาษีมรดกเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5 ล้านบาทการชำระภาษีมรดก

ผู้ได้รับมรดกมูลค่าสุทธิเกิน 100 ล้านบาท จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (ภ.ม.60) โดยสามารถพิมพ์จากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร และดำเนินการชำระภาษีภายใน 150 วันนับแต่วันที่ได้รับมรดก ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแห่งใดแห่งหนึ่ง

กรณีที่ไม่สามารถจ่ายภาษีเต็มจำนวนได้

จากการคำนวณจะเห็นได้ว่า ภาษีมรดกเป็นจำนวนเงินไม่ใช่น้อย ผู้รับมรดกหลายคนจึงไม่สามารถจ่ายภาษีได้เต็มจำนวน กฎหมายจึงอนุโลมให้ผู้ได้รับมรดกยื่นเรื่องผ่อนชำระการจ่ายภาษีมรดกได้สูงสุดถึง 5 ปี และถ้าสามารถจ่ายภาษีจนหมดภายในเวลา 2 ปี จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกด้วย

การเรียกคืนภาษีมรดก

กรณีที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีมรดกหรือจ่ายเกินจำนวน เราจะรักษาผลประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง ข้อกฎหมายได้คำนึงถึงจุดนี้ไว้แล้ว โดยผู้จ่ายภาษีจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีการรับมรดก โดยใช้คำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) ภายใน 5 ปีนับแต่วันชำระภาษีทั้งหมด

ซึ่งต้องยื่นพร้อมเอกสารอีก 3 อย่าง คือ ใบเสร็จรับเงินภาษีการรับมรดก หลักฐานแสดงการเสียภาษีการรับมรดกไว้เกิน และหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ขอคืน เพียงเท่านี้เราก็จะได้ภาษีคืนทุกบาททุกสตางค์ตามที่สมควร

บทลงโทษสำหรับผู้เลี่ยงภาษีมรดก

  • หากผู้ได้รับมรดกไม่ยื่นภาษีโดยเหตุสมควร มีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าจากภาษีที่ต้องจ่าย
  • ผู้ได้รับมรดกยื่นภาษีแต่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงตามความเป็นจริง ต้องเสียเบี้ยปรับอีก 5 เท่าของภาษีที่ต้องจ่าย

อ้างอิง : ต้องเสียภาษีการรับมรดกเท่าไรถ้าได้มรดกเป็นบ้าน-ที่ดิน| DDproperty.com

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart