ความสำคัญของค่าเสื่อมราคา
ค่าเสื่อมราคาคืออะไร?
ค่าเสื่อมราคา หรือ Depreciation Expense เป็นการหักค่าใช้จ่ายสินทรัพย์ถาวรในแต่ละปี เนื่องจากสินทรัพย์ถาวรมีต้นทุนสูงและใช้งานได้เกินกว่า 1 รอบระยะเวลาบัญชี โดยหลักการจึงสามารถตัดเป็นรายจ่ายได้ในแต่ละปีเป็นค่าเสื่อมราคา
ทำไมต้องทราบเรื่องค่าเสื่อมราคา?
เพราะค่าเสื่อมราคาถือเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งที่สำคัญของกิจการ เพราะมักเป็นค่าใช้จ่ายที่มีมูลค่ามากและมีผลต่อกำไรของกิจการสูง ถ้าหากเราไม่ทราบเกี่ยวกับค่าเสื่อมราคาแล้วละก็อาจส่งผลต่องบกำไรขาดทุนของกิจการได้ นี่คือเหตุผลที่จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าเสื่อมราคา
อธิบายอย่างเข้าใจง่าย…ค่าเสื่อมราคาคือหลักการทางบัญชีเพราะถ้าไม่มีวิธีหักค่าเสื่อมของสินทรัพย์แล้วนั้นเงินที่ลงทุนซื้อสินทรัพย์จำพวกนั้นก็จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายไปทันทีทั้งก้อนซึ่งจะมีผลต่องบกำไรขาดทุน เราจึงจำเป็นต้องมาทยอยหักเป็นค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับอายุการใช้งานเพื่อให้การคิดต้นทุนค่าใช้จ่ายเหมาะสมกับการคำนวณกำไรขาดทุนภาษี
ยกตัวอย่าง
ทอรี่บริษัท ลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่มูลค่าสองล้านบาท สามารถผลิตสินค้าได้เดือนละสองแสนบาท ใช้ได้ยี่สิบปี หากในเดือนนั้นโรงงานมีรายได้จากการผลิตทั้งเครื่องจักรใหม่เครื่องจักรเก่ารวมกันแค่สี่แสนบาท จะกลายเป็นว่าเดือนนั้นบริษัทขาดทุนทันที แต่ถ้าเราตัดเป็นค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรเหล่านั้น สมมติเดือนละหนึ่งแสน งบการเงินก็จะดูต่อเนื่องและสมเหตุสมผลมากขึ้นจากตัวอย่างข้างต้นจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของค่าเสื่อมราคามากยิ่งขึ้น
ประเภทสินทรัพย์
สินทรัพย์ที่พูดถึงในเรื่องค่าเสื่อมราคา เป็นสินทรัพย์ประเภทมีไว้ใช้งานเป็นระยะเวลายาวนานและมักจะมีมูลค่าสูง เช่นอาคาร อุปกรณ์ เครื่องจักร รถยนต์
เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ
การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ให้คำนวณตามส่วนเฉลี่ยแห่งระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เต็ม 12 เดือนให้เฉลี่ยหักตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ไม่เกินอัตราร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น โดยให้เฉลี่ยเป็นวัน เช่น บริษัทแห่งหนึ่ง มีรอบระยะเวลาบัญชีปกติตามปีปฏิทิน ได้ซื้อเครื่องจักร มูลค่า 500,000 บาท เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 คำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร ดังนี้
ค่าเสื่อมราคา ในปี 2561 = 500,000 x 20/100 x 31/365 = 8,493.15 บาท
ปกติทรัพย์สินอย่างอื่นหักค่าเสื่อมราคาได้ร้อยละ 20 ของมูลค่า นั่นหมายถึง ได้ทรัพย์สินนั้นมาเต็มรอบระยะเวลาบัญชี
ข้อควรรู้
อย่างที่บอกไปข้างต้น ค่าเสื่อมราคาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสินทรัพย์นั้นมีประโยชน์การใช้เกินกว่า 1 รอบบัญชี(หรือ 1 ปี)ดังนั้น สินทรัพย์ที่กิจการซื้อมาและใช้ประโยชน์หมดภายใน 1 ปี แบบนี้จะไม่เกิดค่าเสื่อมราคาแต่จะนับเป็นค่าใช้จ่ายเช่น อุปกรณ์สำนักงานที่มีอายุการใช้งานต่ำ เป็นต้น
“ที่ดิน” ที่มีอายุการใช้งานเกิน 1 ปี ไม่คิดค่าเสื่อมราคา เพราะโดยปรกติที่ดินมักมีมูลค่าซากที่สูงขึ้นหรือไม่ลดลง ยกเว้นในบางกรณีที่พิสูจน์ได้จริงว่ามีการใช้ประโยชน์จากที่ดินจนทำให้เกิดการเสื่อมแน่นอน เช่น กิจการการเผาขยะเพราะจะทำให้หน้าดินเสื่อมสภาพและไม่สามารถกู้คืนมาได้ เป็นต้น
อ้างอิง :
https://www.dst.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=3550:importance-depreciation&catid=29&Itemid=180&lang=th