5 รายการควรเช็กให้ดี ก่อนนำส่งแบบ ภ.ง.ด.50
1.ความถูกต้องของข้อมูลในแบบแสดงรายการภาษี
เรื่องแรกเป็นเรื่องง่ายๆ แต่จำเป็นต้องเช็กให้มั่นใจ นั่นคือ ข้อมูลที่เรากรอกในแบบแสดงรายการภาษีนั้น ถูกต้องตรงกับงบการเงินหรือไม่ (ในส่วนที่เป็นกำไรทางบัญชีก่อนที่จะปรับปรุงรายการทางภาษี) นอกจากนั้นยังควรจะมีรายการต่อไปนี้เพิ่มเติมไว้ล่วงหน้าด้วย นั่นคือ
• รายการกระทบยอดแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 กับ ภ.พ.30 สำหรับรอบบัญชีที่เรานำส่งแบบแสดงรายการ ซึ่งสาเหตุที่ต้องมีก็เพราะว่าเราจะได้ตรวจทานอีกทีว่ามีรายการไหนตกหล่นไปหรือเปล่า และมันจะเป็นเรื่องง่ายในอนาคตหากมีการตรวจสอบข้อมูลในส่วนนี้จากทางกรมสรรพากร
• รายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตรงนี้ผมแนะนำว่าควรจะมีทั้งในส่วนที่เป็นหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย (หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย) ซึ่งอาจจะทำเป็นทะเบียนคุมไปเลย ว่ามีรายการไหนอะไรบ้าง เพื่อตรวจสอบความถูกต้องอีกทีหนึ่ง และอาจจะเปรียบเทียบยอดรายได้ที่ถูกหักภาษีไว้ กับยอดรายได้สำหรับงวดว่ามีความแตกต่างอย่างเป็นนัยสำคัญไหม เพื่อตรวจสอบให้มั่นใจอีกทางหนึ่ง
2. รายการค่าใช้จ่ายต้องห้าม
สำหรับตัวต่อมา เป็นเรื่องของการปรับปรุงรายการกำไรทางภาษีกันบ้าง ซึ่งตัวแรกที่อยากจะให้สนใจมากๆ นั่นคือ รายการค่าใช้จ่ายต้องห้ามต่างๆ ตามมาตรา 65 ตรี ว่ามีรายการไหนบ้างที่ต้องปรับปรุงบวกกลับให้ถูกต้อง ซึ่งรายการหลักๆที่อยากจะให้ระวังนั้นมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ
● รายการปรับปรุงค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่างๆ สำหรับรายการแรกนี้ต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาร่วมกับความสงสัยเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพครับว่า สามารถเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากไม่แน่ใจแล้ว การยอมปรับปรุงรายการพวกนี้ไว้ล่วงหน้าก็เป็นทางเลือกที่อาจจะทำให้ชีวิตสบายกว่า
● รายการค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด สำหรับส่วนนี้จะเป็นพวกรายการที่กฎหมายให้สิทธิหักไว้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขต่างๆ ได้แก่ ค่ารับรอง ค่าใช้จ่ายหนี้สูญ ค่าเสื่อมราคา หรือเงินบริจาคต่างๆ ที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
● รายการที่ไม่มีหลักฐานครบถ้วน ตรงนี้ควรระวังเช่นเดียวกัน แม้ว่าทางบัญชีจะให้เป็นรายจ่ายได้ แต่ทางภาษีแล้ว รายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับกลุ่มนี้ บอกเลยว่ามีปัญหาแน่นอน
3.รายการค่าใช้จ่ายที่หักได้เพิ่ม
รายการต่อมา จะเป็นรายการค่าใช้จ่ายที่หักได้เพิ่มครับ โดยกฎหมายจะมีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ทุกๆ ปี ซึ่งต้องระวังและจัดการให้ชัดเจน เช่น การหักค่าใช้จ่ายในการอบรมพนักงาน ค่าใช้จ่ายที่หักได้เพิ่มตามพระราชกฤษฎีกา 604 และ 642 หรือค่าใช้จ่ายสิทธิประโยชน์ด้านการจ้างงานอย่างนักศึกษาฝึกงานบัญชี คนพิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีค่าใช้จ่ายหลักๆ ในกลุ่มนี้อีกหลายตัวนะ ตรงนี้อยากจะให้เช็กให้ดี เพราะบางทีเราก็มีการหลงลืมไปเช่นเดียวกัน
4. รายการรายได้เพิ่มเติม
เมื่อพูดถึงค่าใช้จ่าย สิ่งที่ต้องระวังอีกตัวคือรายได้ แต่เราจะไม่พูดถึงกลุ่มที่เป็นรายได้ที่ยกเว้นสักเท่าไร เนื่องจากมีค่อนข้างน้อย และส่วนใหญ่ไม่พลาดกันอยู่แล้ว (เช่น เรื่องของเงินปันผลตามมาตรา 65 ทวิ (10)) แต่จะให้เน้นไปเรื่องของการปรับปรุงรายการรายได้เพิ่มเติมตามกฎหมาย ซึ่งอ้างอิงตามมาตรา 65 ทวิ (4) เป็นหลัก และตรงนี้ต้องบอกเลยว่าให้ระวังให้ดี เพราะมักจะเป็นประเด็นในการพิจารณาเรื่องราคาตลาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องของเงินให้กู้ยืมกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วน เพราะปีนี้ทางกรมสรรพากรค่อนข้างสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ
5. ประเด็นอื่นๆ ของกฎหมายที่มีอัพเดทเพิ่มเติม
ตัวสุดท้ายนั้นเป็นเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เพิ่มเติมมาในระหว่างปี ซึ่งต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าบางเรื่องเรามีสิทธิได้รับประโยชน์ไหม เช่น เรื่องของการเสียภาษีในอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นกรณีพิเศษของบัญชีชุดเดียว เรื่องของการใช้สิทธิประโยชน์ของรายจ่ายต่างๆ กรณีที่เปลี่ยนผ่านจากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล รวมถึงสิ่งที่ต้องระวังด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย ตรงนี้อย่าลืมจัดการให้ดี
จะเห็นว่า 5 ข้อที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องของการปรับปรุงกำไรสุทธิทางบัญชีให้เป็นรายการทางภาษีทั้งสิ้น ซึ่งความเป็นจริงแล้ว รายการทั้งหมดนั้นต้องใช้ความรู้ความเข้าใจของนักบัญชีอย่างเราๆ ทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่อยากจะลงรายละเอียดชี้ชัดเรื่องราวเหล่านี้ไว้อีกที เพื่อที่จะได้เตือนใจและไม่มีปัญหาใดๆ เพิ่มเติม เพราะเราเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ แนวทางการตรวจสอบของกรมสรรพากรย่อมจะสนใจประเด็นเหล่านี้มากขึ้นแน่นอน
TAXBugnoms (บล็อกภาษีข้างถนน) : Tax Knowledge : ภาษี
วารสาร : CPD&ACCOUNT เมษายน 2561
อ้างอิง :
https://www.dst.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2625:5-check-50-form-send&catid=29&Itemid=180&lang=th