3 ขั้นตอนจัดการการเงินและภาษีที่ควรทำเมื่ออกจากงาน
บทความในตอนนี้รวบรวม 3 ขั้นตอนที่ควรทำ ที่ผมรังสรรค์จากประสบการณ์ในชีวิตจริงและจากข้อมูลที่รวบรวมทั้งหมดมาสรุปและฝากกันไว้ให้พิจารณาครับ
1. เช็กเงินสำรองก่อนว่าเพียงพอไหม เพราะถ้าหากเงินสำรองที่เรามียังไม่พอใช้จ่ายล่วงหน้าไปสัก 6-12 เดือนในช่วงที่ต้องออกจากงานและหางานใหม่ไม่ได้ในระหว่างนั้น เรายิ่งต้องบริหารจัดการในข้ออื่น ๆ ให้ดีขึ้นกว่านี้ และพยายามที่จะสร้างกระแสเงินที่เป็นบวกโดยการหารายได้เพิ่มให้ได้ไวที่สุดครับ
2. เราได้รายได้ (เงินได้) อะไรจากการออกจากงานบ้าง สำหรับข้อนี้ผมอยากให้เช็กสิ่งที่ได้รับจากนายจ้างในปีที่เราออกว่าเราได้รับอะไรบ้าง ซึ่งหลักๆ แล้วเราจะได้รับเงินประมาณ 3 ก้อน ดังนี้
- เงินเดือนที่ได้มาตลอดจนถึงวันสุดท้ายของการทำงาน สำหรับเงินก้อนนี้ถือว่าเป็นเงินที่เรายังต้องนำมายื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ โดยเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ตามกฎหมาย และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ว่า ถึงแม้เราจะออกจากงานในระหว่างปีก็ตาม แต่รายได้ที่เกิดขึ้นยังต้องนำมาคำนวณภาษีอยู่ดีครับ
- เงินชดเชย เงินพิเศษ เงินก้อน เงินที่คำนวณให้ในกรณีต่างๆ สำหรับก้อนนี้คือก้อนที่ชี้ชะตาชีวิตแล้วครับ ถ้าหากไม่ใช่การออกโดยสมัครใจ เราย่อมได้รับเงินชดเชยต่างๆ จากการที่นายจ้างตัดสินใจให้เราออกจากงาน ซึ่งตรงนี้คำถามที่เราต้องถามเพิ่มเติม คือ เงินชดเชยก้อนไหนได้รับสิทธิยกเว้นภาษีบ้าง และ เงินชดเชยก้อนไหนต้องเสียภาษีบ้าง
- เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในกรณีที่เราตัดสินใจนำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งรวมถึงผลประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจากกองทุน ทำให้ในส่วนที่นายจ้างสมทบและผลประโยชน์จากการลงทุนต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วย เช่นกัน (ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ตามกฎหมายเช่นเดียวกัน)
3. กระแสเงินสดและสภาพคล่อง เมื่อพิจารณาขั้นตอนที่สองเรียบร้อยแล้ว ผมอยากให้พิจารณาเพิ่มเติม เรื่องของกระแสเงินสด ในแต่ละเดือนที่ต้องใช้จ่ายครับ กับ สภาพคล่อง ที่เรามีอยู่ ณ จุดนี้ โดยเปรียบเทียบกันแบบไม่มีอคติว่าชีวิตจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยสิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับการใช้ชีวิตต่อ (ระหว่างหางานใหม่) คือ สำรองเงินที่ได้รับบางส่วนไว้ใช้จ่ายส่วนตัวเท่าที่จำเป็น และจัดการหนี้สิน หรือเจรจาในการชำระหนี้สิน เพื่อให้กระแสเงินสดยังเป็นบวก หรือยังเพียงพอต่อการใช้จ่ายในระหว่างที่หางานใหม่
เกร็ดความรู้กับธรรมนิติ : 3 ขั้นตอนจัดการการเงินและภาษีที่ควรทำเมื่ออกจากงาน
อ้างอิง : 3 ขั้นตอนจัดการการเงินและภาษี (ที่ควรทำ) เมื่อออกจากงาน (dst.co.th)