เช็คสุขภาพกระแสเงินสำหรับ e-commerce

เช็คสุขภาพกระแสเงินสำหรับ e-commerce

ธุรกิจ e-commerce นั้นกำลังจะกลายเป็นที่นิยมในยุคสมัยที่อินเทอร์เน็ตมีความเร็วสูงกว่าเดิมมากมาย หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “Small is Beautiful” ที่แปลว่า ธุรกิจเล็กๆ นั้นสวยงามเสมอ ซึ่งเป็นคำพูดโดย “แจ็ค หม่า” เจ้าพ่อกิจการ e-commerce ชื่อดังระดับโลก

            อย่างไรก็ตามธุรกิจ e-commerce นั้นต้องมีการดูแลบัญชีเบื้องต้นและเคล็ดลับการหมุนเงินในการทำธุรกิจ เพราะเนื้อในของการประกอบกิจการ คือ การบริหารจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ หากเราจัดการเงินไม่ดีพอ ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง นั่นหมายถึง ธุรกิจล้มได้เลย มาติดตามกันว่าเราจะบริหารจัดการเรื่องเงิน เพื่อให้สุขภาพของกิจการเราดีอย่างสม่ำเสมอได้อย่างไร

            เรื่องราวของการเช็คสุขภาพทางการเงินของกิจการ คงหนีไม่พ้น “งบดุล” โดยเราสามารถดูตัวเลขดังต่อไปนี้เพื่อประกอบการพิจารณา

ส่วนของสินทรัพย์

            กิจการที่มีสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ และดีพอ ย่อมสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจได้อย่างไม่ต้องสงสัย สำหรับธุรกิจ e-commerce ส่วนของสินทรัพย์ ได้แก่ ระบบการซื้อขายออนไลน์ หรือเว็บไซต์ที่เราเป็นเจ้าของ เจ้าของกิจการ e-commerce ควรหมั่นเช็คระบบให้เสถียร เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าได้รวดเร็ว นอกจากนั้น “เงินสด” ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เงินสดในกิจการส่วนใหญ่จะเป็นเงินที่ใช้หมุนเวียนในการทำธุรกิจ หรือ Working Capital เงินหมุนในธุรกิจนี้เราต้องกันเอาไว้ให้ครอบคลุมยอดขาย และยอดสั่งซื้อสินค้า

ยกตัวอย่างเช่น หากเราเป็น e-commerce ที่เป็นตัวกลางที่ต้องสั่งซื้อสินค้ามาก่อนเป็นเงินสด และขายออกให้กับลูกค้าปลีกเป็นเงินสดเช่นกัน แต่เราต้องมีเงินส่วนหนึ่งกันไว้สำหรับซื้อสินค้ามาเก็บไว้เพื่อขายให้กับลูกค้าของเรา และต้องใช้เงินสดในการบริหารจัดการภายใน โดยปกติแล้วควรกัน Working Capital ให้เป็นสัดส่วนราว 20-30% ของยอดขายกันไว้เป็นสภาพคล่องเผื่อเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิด สำหรับส่วนของสินทรัพย์นอกจากนั้นอาจเป็นอาคารสำนักงานที่เราใช้ประกอบกิจการ หรือเงินลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น

ส่วนของหนี้สิน

            ส่วนของหนี้สินเป็นเรื่องสำคัญทางการเงินสำหรับคนทำธุรกิจ ตัวชี้วัดก็คือ หนี้สินต่อทุนไม่ควรเกิน 2 เท่าตัว สำหรับส่วนทุนนั้น คือ การหักลบกันระหว่างสินทรัพย์ และหนี้สิน

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท e-commerce แห่งหนึ่งมีสินทรัพย์รวมแล้ว 100 ล้านบาท และมีหนี้สินทั้งหมด 50 ล้านบาทจากการกู้ยืมเงินจากธนาคาร หมายความว่า บริษัทนี้จะมีทุน = 100 – 50 = 50 ล้านบาท ในขณะที่มีหนี้สิน 50 ล้านบาท ทำให้หนี้สินต่อส่วนของทุน = 50/50 = 1 เท่า นั่นเอง หมายความว่า กิจการแห่งนี้ถ้ามีรายได้สม่ำเสมอ มีเครดิตที่ดีพอ ยังสามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้อีก 50 ล้านบาท หรือกว่าเท่าตัวเพื่อมาเสริมสภาพคล่องได้

            การดูแลในส่วนของหนี้สินเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างรอบคอบ การก่อหนี้ที่มากเกินไปถ้าอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำคงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากสภาพเศรษฐกิจนั้นกดดันให้เกิดภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น จะทำให้ “ดอกเบี้ย” ที่กิจการต้องจ่ายให้กับธนาคารสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาไม่มีเงินจ่ายหนี้หรือจ่ายดอกเบี้ยมีให้เห็นมาแล้วในช่วงภาวะวิกฤติต่างๆ แม้ในวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ของประเทศไทยที่ทำให้กิจการหลายกิจการต้องล้มหายตายจากกันมาก็มีตัวอย่างให้เห็น ดังนั้นการบริหารจัดการหนี้สินในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง

ส่วนของทุน

            อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น ส่วนของทุน คือ การหักลบระหว่างสินทรัพย์ และหนี้สินของกิจการ กิจการที่ดีมีแนวโน้มเติบโต สินทรัพย์จะโตขึ้นในขณะที่หนี้สินอาจจะลดลง ทำให้ส่วนของทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆและเริ่มมีเงินสดกองไว้ในบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ หากคิดปันผลให้กับผู้ถือหุ้นก็จะได้รับเงินปันผลเพิ่มขึ้น นั่นคือกิจการที่เติบโต

            ในทางกลับกัน กิจการที่ไม่ดี หนี้สินอาจโตเร็วกว่าสินทรัพย์ ปัญหาอาจเกิดจากการขายของไม่ได้ ขาดสภาพคล่อง เก็บเงินลูกค้าไม่ได้ ทำให้ต้องกู้เงินมากขึ้นเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง หากประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นสัญญาณอันตราย เจ้าของกิจการต้องรีบหาทางแก้ไขโดยเร็ว

            อย่างไรก็ตาม การประกอบกิจการใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง e-commerce นั้น การบริหารจัดการเรื่องเงินถือเป็นเรื่องสำคัญสุดๆ เราไม่ควรประมาท ไม่สนใจ เพราะคิดว่ายุ่งยาก หลายคนต้องเจ็บตัวเพราะคิดแบบนี้มานักต่อนักแล้ว ยอมสละเวลาเรียนรู้สักนิดก่อนจะเกิดปัญหา เมื่อเราพบปัญหา อย่างเช่น บริษัทขาดสภาพคล่อง เราจะได้รีบแก้ไขปัญหาก่อนลุกลามกลายเป็นการ “กินทุน” และปัญหาใหญ่ ๆ ก็จะตามมาอีกมากมาย อย่าทิ้งปัญหาไว้ข้างหลังด้วยความคิดที่ว่าเราไม่เก่งบัญชี เราไม่อยากยุ่งยากเรื่องเงินจะดีกว่า ฝากไว้สำหรับผู้ประกอบการ e-commerce ทุกท่าน

อ้างอิง : https://www.myaccount-cloud.com/Article/Detail/89120

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart