สิทธิประโยชน์ทางภาษีของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สิทธิประโยชน์ทางภาษีของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สิทธิประโยชน์ทางภาษีของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เมื่อออกจากงาน ลูกจ้างจะสิ้นสมาชิกภาพจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนจะจ่ายเงินคืนให้แก่สมาชิก เงินที่สมาชิกได้รับคืนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบ่งเป็น 4 ส่วน

ส่วนที่ 1 เรียกว่าเงินสะสมซึ่งเป็นเงินที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน สมาชิกไม่ต้องนำเงินสะสมที่ได้รับคืนจากกองทุนไปรวมคำนวณภาษี เนื่องจากเงินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “เงินได้” ประเภท “ค่าจ้าง” ซึ่งเป็นเงินที่สมาชิกนำไปยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีอยู่แล้ว

เงินส่วนที่ 2 – 4 เรียกว่า ผลประโยชน์เงินสะสม เงินสมทบ (เงินที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุน) และผลประโยชน์เงินสมทบ ซึ่งเป็น “เงินได้” เช่นเดียวกับเงินสะสม แต่เป็นส่วนที่สมาชิกต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่จ่ายเงินได้ดังกล่าว (บริษัทจัดการ หรือผู้ที่ทำทะเบียนสมาชิก) มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากร ซึ่งสมาชิกสามารถนำภาษีหัก ณ ที่จ่าย มาหักออกจากภาระภาษีที่คำนวณได้ตอนปลายปีต่อไป

อย่างไรก็ดี เนื่องจากรัฐต้องการสนับสนุนให้ลูกจ้างมีการออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างมีวินัย สม่ำเสมอ และเป็นระยะเวลานานพอสมควร จึงกำหนดให้เงินที่สมาชิกได้รับคืนจากกองทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

 แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ

 1.สิทธิในการแยกคำนวณภาษีต่างหากจากเงินได้ประเภทอื่น

ในกรณีที่สมาชิกออกจากงานโดยมีระยะเวลาทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป สมาชิกมีสิทธิเลือกนำเงินที่ได้รับจากกองทุนไปแยกคำนวณต่างหากจากเงินได้อื่น ๆ โดยนำไปกรอกในใบแนบ ภ.ง.ด. 91 หรือ ภ.ง.ด. 90 และสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบพิเศษ กล่าวคือ หักค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวน 7,000 บาท คูณจำนวนปีที่ทำงาน เหลือเท่าใดหักค่าใช้จ่ายได้อีกร้อยละ 50 ของเงินที่เหลือ แล้วนำเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วไปคำนวณภาระภาษีตามหลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 2.สิทธิได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน

สมาชิกมีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีถ้าสมาชิกได้รับเงินคืนจากกองทุนตามเงื่อนไขดังนี้

(ก) เนื่องจากออกจากงาน
(ข) โดยสมาชิกมีอายุขณะที่ได้รับเงินคืนไม่น้อยกว่า 55 ปี บริบูรณ์ และ
(ค) เป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ต่อเนื่องกัน (อายุสมาชิก) ทั้งนี้

2.1 ถ้าเป็นสมาชิกยังไม่ถึง 5 ปี ต่อเนื่องกัน ต้องเป็นสมาชิกต่อไปจนครบเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน (เช่น คงเงินไว้ในกองทุนจนมีอายุสมาชิกกองทุนครบ 5 ปี เนื่องจากระหว่างการคงเงิน สมาชิกยังมีสภาพสมาชิกอยู่ในกองทุน)

2.2 ในกรณีเคยเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หากสมาชิกได้ขอโอนเงินจาก กบข. มาออมต่อใน
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การนับอายุสมาชิกตาม (ค) ให้สามารถนับรวมกันได้ (อายุสมาชิก กบข. + อายุสมาชิกกองทุน)
รวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี

เกร็ดความรู้กับธรรมนิติ : สิทธิประโยชน์ทางภาษีของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

อ้างอิง : https://www.thaipvd.com/content/6

 

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart