รูปแบบธุรกิจไหนเสี่ยงกรมสรรพากรตรวจสอบ

รูปแบบธุรกิจไหนเสี่ยงกรมสรรพากรตรวจสอบ

การประเมินกลุ่มเสี่ยงโดยสรรพาการกร
มี 3 ระบบดังนี้
1. การประเมินสถานะของผู้ประกอบการจากการออกตรวจสภาพของกิจการ ของกรมสรรพากร โดยกรมสรรพากรจะเข้าไปตรวจยังสถานประกอบการ ทำการตรวจวิเคราะห์และให้การแนะนำแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งกรมสรรพากรจะใช้เกณฑ์การประเมินกิจการแต่ละประเภทแตกต่างกันไป เช่น กิจการซื้อมาขายไป ใช้เกณฑ์วิธีการจัดการสินค้าคงคลัง กิจการผลิตใช้เกณฑ์วิธีการจัดการสูตรผลิต กิจการบริการใช้เกณฑ์เรื่องการจัดการเอกสารสัญญา สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ร่วมกันในการพิจารณาทุกประเภทกิจการได้แก่วิธีการรับชำระเงินซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงระบบบัญชีที่กิจการใช้ กรมสรรพากรจะนำคะแนนรวมที่ได้จากการประเมินมาพิจารณาคู่กับอัตราส่วนทางการเงินและผลการตรวจสภาพย้อนหลัง ซึ่งประเมินในเรื่องของความเชื่อมั่น ความมั่นคง ของกิจการ

      2. การวิเคราะห์พฤติกรรมความเสี่ยงของกิจการกับกลุ่มธุรกิจเดียวกัน หรือที่เรียกว่า Data Analytics โดยการเปรียบเทียบข้อมูลในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันเพื่อหาค่าที่ผิดปกติไปจากข้อเท็จจริง เช่นการบ่งชี้ว่ากิจการบันทึกรายได้ต่ำไป หรือ การบันทึกค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ หรือกิจการผลิตเป็นต้น พบว่าข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ดังกล่าวค่อนข้างถูกต้องแม่นยำ

      3. การประเมินความเสี่ยงผู้เสียภาษีจำนวน 151 เกณฑ์หรือที่เรียกว่า Risk Based Audit (RBA) โดยคัดเลือกเกณฑ์ที่เหมาะสมในการประเมินแต่ละกิจการจากข้อมูลการเสียภาษีของกิจการจากแบบแสดงรายการเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็น ภงด50 ภพ30 ภงด53 ภงด3 เป็นต้น รวมทั้งข้อมูลในการทำธุรกรรมกับหน่วยราชการอื่นๆ เช่น ข้อมูลการต่อทะเบียนรถยนต์ ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปา เป็นต้น

ประเภทรายการที่แสดงในงบการเงิน ที่เสี่ยงสรรพากรตรวจสอบ
นอกจากการประเมินธุรกิจที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตามวิธีที่กล่าวมาข้างต้น กรมสรรพากรยังพิจารณาประเด็นความเสี่ยงจากรายการที่แสดงในงบการเงิน ดังนี้

  1. เงินสด
    • กิจการที่ทำธุรกรรมโดยใช้เงินสดเป็นหลัก โดยไม่ทำธุรกรรมผ่านบัญชีธนาคาร จากการประเมินด้วยสามแนวทางข้างต้น สรรพากรสามารถทราบได้ว่ากิจการดำเนินธุรกิจโดยผ่านช่องทางใดเป็นหลัก
    • กิจการไม่มีรายการเงินฝากกับธนาคาร เงินสดอยู่ในมือกรรมการทั้งหมดหรือเป็นจำนวนมาก อาจเข้าข่ายกรรมการกู้ยืมเงินจากกิจการโดยไม่คิดดอกเบี้ย
    • กิจการใช้เงินสดชำระรายการค้าทุกรายการหรือการบันทึกบัญชีจ่ายเงินด้วยเงินสดทั้งหมด กิจการไม่มีรายงานกระทบยอดรายการเงินสด
  2. ลูกหนี้
    กิจการมีรายการลูกหนี้เป็นจำนวนเงินสูงมาก ซึ่งอาจเป็นลูกหนี้ที่ไม่มีตัวตนหรือเงินให้กู้ยืมที่ไม่ได้นำมาแสดงในงบการเงิน ซึ่งอาจแสดงถึงกิจการมีรายได้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
  3. เงินกู้ยืมระยะสั้น
    กิจการมีรายการแสดงเงินให้กู้ยืมระยะสั้นในงบการเงินแต่ในความเป็นจริงไม่มีหรือกิจการมีเงินให้กู้ยืมแต่ไม่มีรายการดอกเบี้ยรับ
  4. สินค้าคงเหลือ
    กิจการมีรายการสินค้าคงเหลือขาดหรือเกินไม่ตรงกับจำนวนสินค้าจริง หรือกิจการผลิตไม่มีของเสียในรายงานสินค้าและวัตถุดิบ
  5. ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
    • กิจการแสดงสินทรัพย์สูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง งบการเงินไม่แสดงรายการสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์กับรายได้ของกิจการ หรือไม่แสดงรายการสินทรัพย์ในการประกอบกิจการ
    • นโยบายการบัญชีในการคำนวณค่าเสื่อมราคาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประมวลรัษฎากร
  6. เจ้าหนี้การค้า
    • กิจการแสดงรายการเจ้าหนี้การค้าในงบการเงินเป็นจำนวนเงินสูง ซึ่งอาจเป็นเจ้าหนี้การค้าที่ไม่มีตัวตน แสดงถึงการแสดงรายการไม่ตรงกับความเป็นจริง
    • กิจการแสดงรายการเจ้าหนี้การค้าต่ำกว่าความเป็นจริงเนื่องจากการบันทึกรายการซื้อไม่ครบถ้วนหรือไม่บันทึกรายการ
  7. เงินกู้ยืมกรรมการ
    กิจการไม่มีเงินกู้ยืมกรรมการจริงแต่มีรายการอยู่ในงบการเงิน อาจแสดงให้เห็นว่ากิจการแสดงรายได้ไม่ตรงกับความเป็นจริง
  8. ทุนจดทะเบียน
    กิจการแสดงมูลค่าทุนจดทะเบียนที่ชำระเต็มมูลค่าในงบการเงินแต่ที่จริงแล้วกิจการได้รับชำระค่าหุ้นไม่ครบหรือไม่ได้บันทึกลูกหนี้ค่าหุ้นกรรมการรวมทั้งไม่ได้คิดดอกเบี้ย
  9. กำไรสะสม (ขาดทุนสะสม)
    กิจการมีขาดทุนสะสมเป็นรายการค้างนานในบัญชีแต่ยังมีเงินให้กู้ยืมกรรมการ ซึ่งอาจแสดงการตกแต่งบัญชี
  10. รายได้
    • รายได้ที่แสดงในงบการเงินไม่ถูกต้องครบถ้วน อาจเกิดจากการขายที่ไม่ออกใบกำกับภาษีหรือออกใบกำกับภาษีไม่ครบทุกครั้ง
    • รายได้ที่แสดงในงบการเงินไม่สัมพันธ์กับต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งแสดงว่ากิจการบันทึกรายได้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
    • กิจการไม่รับรู้รายได้ที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อกิจการมีการจำหน่ายสินทรัพย์,กิจการได้รับชำระเงินจากลูกหนี้ที่ตัดหนี้สูญไปแล้ว,กิจการมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์พลอยได้หรือของเสียจากกระบวนการผลิต หรือเมื่อกิจการมีรายได้จากการส่งเสริมการขาย เป็นต้น
  11. ต้นทุนขายสินค้า
    • กิจการบันทึกต้นทุนขายสินค้าสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง
    • กิจการไม่มีการปันส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นต้นทุนสินค้า
  12.  ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
    • กิจการบันทึกค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่รายได้ลดลง ซึ่งไม่เป็นไปตามความจริง
    • กิจการบันทึกค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้ โดยเปรียบเทียบกับธุรกิจลักษณะเดียวกันในรอบบัญชีเดียวกัน
    • กิจการมีค่านายหน้า ค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย สูงเมื่อเทียบกับรายได้ของกิจการ
    • กิจการมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเช่นค่าที่ปรึกษา ค่าแรง ค่านายหน้า ค่าขนส่งเป็นต้น
    • มีรายการค่าซ่อมแซมเป็นจำนวนเงินที่สูงเป็นสินทรัพย์ของกิจการ
    • กิจการบันทึกรายการต้นทุนของสินทรัพย์ที่ได้มาเป็นค่าใช้จ่าย
    • มีรายการบันทึกดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่าย
    • กิจการบันทึกค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้องตามรอบระยะเวลาบัญชี
    • กิจการไม่บันทึกค่าใช้จ่ายค้างจ่ายหรือบันทึกรายการค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้าเป็นค่าใช้จ่าย

 

เกร็ดความรู้กับธรรมนิติ : รูปแบบธุรกิจไหนเสี่ยงกรมสรรพากรตรวจสอบ

อ้างอิง : รูปแบบธุรกิจแบบไหนเสี่ยงกรมสรรพากรตรวจสอบ – (peakaccount.com)

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart