จดทะเบียนบริษัทดีไหม มีขั้นตอนอะไรบ้าง ?
สำหรับผู้ประกอบการ SME แล้ว เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นมาถึงระดับหนึ่ง อาจจะเริ่มคิดถึงเรื่องการจดทะเบียนบริษัทที่ว่ากันว่าจำเป็นขึ้นมาแล้วใช่มั้ย แต่ผู้ประกอบการอาจจะยังไม่แน่ใจในข้อดีข้อเสีย รวมถึงไม่แน่ใจว่าอะไรบ้างที่จะบอกเราได้ว่านี่แหละ คือเวลาที่ควรจดทะเบียนบริษัทแล้ว
จดทะเบียนบริษัทเมื่อไหร่ดี
กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าเมื่อไหร่กันแน่ที่ควรจดทะเบียนการค้า แต่สิ่งที่เป็นสัญญาณบอกได้ว่าถึงเวลาแล้วคือ รายรับของบริษัทนั่นเอง
เมื่อรายได้มากกว่า 750,000?
ตราบใดที่ยังไม่จดทะเบียนบริษัทฐานเงินได้เมื่อต้องจ่ายภาษีจะถูกคำนวณแบบเป็นเงินได้บุคคลธรรมดา ที่มีฐานภาษีสูงสุดที่ 750,000 บาท เสียภาษีที่ 35% แต่ถ้าจดทะเบียนบริษัทแล้ว ภาษีเงินได้สูงสุดที่ต้องจ่ายจะอยู่ที่ 20% ซึ่งตรงนี้จะมองว่ามากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ เพราะปัจจัยในการคำนวณเงินได้ของบุคคลกับบริษัทที่ผ่านการจดทะเบียนมาแล้วมีความแตกต่างกัน ผู้ประกอบการควรพิจารณาส่วนนี้ให้ดี
เมื่อต้องการสร้างเครดิตทางบัญชี
เมื่อบริษัทเติบโตถึงจุดหนึ่ง ผู้ประกอบการที่ต้องการขยับขยายให้บริษัทเติบโตขึ้น จะมีอีกเรื่องที่ต้องคิดถึงนั่นคือหลักฐานที่ใช้แสดงเพื่อยื่นขอสินเชื่อ ซึ่งบัญชีรายรับรายจ่าย งบการเงินต่างๆ จะเป็นเครดิตที่ดีหากมีการยื่นขออนุมัติ การจดทะเบียนบริษัทที่มาพร้อมการแยกบัญชีรายรับรายจ่ายของผู้ประกอบการออกจากบัญชีของบริษัทเองจะช่วยให้เห็นตัวเลขจริงที่เกิดจากการบริหารงานของบริษัทนั้นๆ ซึ่งช่วยให้การยื่นขออนุมัติสินเชื่อเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น
จดทะเบียนบริษัทมีกี่ประเภท
นอกจากความสงสัยว่าการจดทะเบียนบริษัทควรจดเมื่อไหร่แล้ว ผู้ประกอบการบางรายอาจยังสงสัยเรื่องของการจดทะเบียนบริษัทเพิ่มเติมว่า การจดทะเบียนมีกี่ประเภท การจดทะเบียนบริษัทแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
จดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนพาณิชย์ (บุคคลธรรมดา)
คือการจดทะเบียนบริษัทของกิจการที่มีผู้ประกอบการเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว คิดเอง ทำเอง มีอิสระและสามารถตัดสินใจทุกอย่างเกี่ยวกับกิจการได้เต็มที่หรือเหมาะกับกิจการขนาดเล็กที่ขายสินค้าหรือบริการง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก มูลค่าของกิจการไม่สูงมาก ข้อดีคือผู้ประกอบการจะได้รับกำไรเต็ม ๆ และเสียภาษีโดยคำนวณอัตราภาษีหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเท่านั้น แต่ถ้ากิจการขาดทุนก็ต้องรับผิดชอบทุกอย่างรวมถึงหนี้สินแบบไม่จำกัดเช่นกัน
จดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนนิติบุคคล
สำหรับกิจการที่มีผู้ประกอบการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน การกระทำทุกอย่างจะเป็นไปในนามกิจการทั้งหมด ข้อดีคือ ภาษีเงินได้สูงสุดที่ต้องจ่ายจะอยู่ที่ 20% ซึ่งน้อยกว่าจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนพาณิชย์ ส่วนข้อเสียคือ การดำเนินกิจการอาจมีความล่าช้าเพราะมีผู้ตัดสินใจหลายคน โดยทะเบียนนิติบุคคลมี 3 ประเภทแบ่งตามการรับผิดชอบหนี้สิน ที่ “จำกัด” หรือ “ไม่จำกัดจำนวน”ดังนี้
ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญ
ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญ คือ กิจการที่มีผู้ประกอบการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จะจดหรือไม่จดทะเบียนนิติบุคคลก็ได้ โดยความรับผิดชอบของหุ้นส่วนมีประเภทเดียวเท่านั้น คือ ผู้ที่รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “ไม่จำกัดจำนวน” ผู้เป็นหุ้นส่วนสามารถตกลงทำกิจการร่วมกันและแบ่งปันกำไรจากกิจการได้อีกด้วย แต่ถ้ากิจการขาดทุน หุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดชอบหนี้สินร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวน
ห้างหุ้นส่วนจำกัด
ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือ กิจการที่มีผู้ประกอบการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล ความรับผิดชอบของหุ้นส่วน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือแบบ “จำกัด” และ แบบ “ไม่จำกัด” ผู้ที่รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “จำกัด” จะไม่สามารถตัดสินใจในกิจการได้ และผู้ที่รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “ไม่จำกัดจำนวน” จะมีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในกิจการได้ทั้งหมด ถ้าหากกิจการขาดทุน ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะไม่ต้องจ่ายภาษี
บริษัทจำกัด
บริษัทจำกัด คือ กิจการที่มีผู้ประกอบการ 3 คนขึ้นไป ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล ความรับผิดชอบของหุ้นส่วนมีประเภทเดียว คือ ผู้ที่รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “จำกัด” ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระ ซึ่งกิจการแบบนี้ต้องมีภาพลักษณ์ดี มีการวางแผนกิจการรัดกุม และมีการบริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการบริษัท เพื่อทำให้กิจการเกิดความน่าเชื่อถือ
จดทะเบียนบริษัทมีขั้นตอนอะไรบ้าง
1. ตรวจและจองชื่อบริษัท
- เข้าไปที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อสมัครสมาชิกได้ฟรี
- เข้าไปที่จองชื่อ/ตรวจทะเบียนคำขอนิติบุคคล เพื่อจองชื่อบริษัท ซึ่งสามารถทำได้มากถึง 3 ชื่อ โดยชื่อนั้นๆ จะต้องไม่ซ้ำหรือใกล้เคียงกับบริษัทที่เคยจดทะเบียนไปแล้ว
2. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ
- หนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือแสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท โดยจะต้องยื่นไม่เกิน 30 วันจากวันที่นายทะเบียนรับรองชื่อเรียบร้อย
- ข้อมูลที่ต้องใช้ในการจัดตั้งบริษัท
- ชื่อของบริษัท (ตามที่ได้จองชื่อไว้)
- ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ / สาขา
- วัตถุประสงค์ของบริษัท
- ทุนจดทะเบียน
- ชื่อ ที่อยู่ อายุ สัญชาติ ของพยาน 2 คน
- ข้อบังคับ (ถ้ามี)
- จำนวนทุน (ค่าหุ้น) ที่เรียกชำระแล้ว อย่างน้อยร้อยละ 25% ของทุนจดทะเบียน
- ชื่อ ที่อยู่ อายุของกรรมการ
- รายชื่อหรือจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท (อำนาจกรรมการ)
- ชื่อ เลขทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตพร้อมค่าตอบแทน
- ชื่อ ที่อยู่ สัญชาติ และจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน
3. รอนายทะเบียนตรวจสอบเอกสาร
เมื่อส่งเอกสารตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ให้รอการตรวจสอบจากนายทะเบียน หากมีส่วนไหนจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมจะได้รับการแจ้งกลับ
4. เตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อใช้จดทะเบียนบริษัท
เอกสารที่ต้องเตรียมมา
- แบบจองชื่อนิติบุคคล
- สำเนาบัตรประจำตัวของผู้เริ่มก่อการและกรรมการทุกคน
- สำเนาหลักฐานการรับชำระค่าหุ้นที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้น
- แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานใหญ่และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป
หมายเหตุ: เอกสารทุกฉบับผู้ขอจดทะเบียนจะต้องเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องอย่างน้อยหนึ่งคน ยกเว้นสำเนาบัตรประจำตัวหรือหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อผู้ขอจดทะเบียน เจ้าของบัตรจะต้องเป็นผู้เซ็นรับรองความถูกต้องด้วยตนเอง
5. ยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท
ยื่นคำขอได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตที่ใกล้บ้านผู้ประกอบการทุกจังหวัดทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 87 แห่ง เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนและมอบหนังสือรับรอง ก็แสดงว่าผู้ประกอบการเป็นเจ้าของบริษัทที่ได้จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
จดทะเบียนบริษัทกับคำถามที่พบบ่อย
จดทะเบียนบริษัท ทำด้วยตนเองหรือจ้างผู้เชี่ยวชาญดีกว่า?
ผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนด้วยตนเองได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ข้อดีก็คือผู้ประกอบการจะได้เรียนเกี่ยวกับขั้นตอนการจดทะเบียนตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ถ้าผู้ประกอบการไม่อยากเสียเวลาหรือไม่อยากวุ่นวายในขั้นตอนและเอกสาร ก็สามารถจ้างสำนักงานบัญชีได้เช่นกัน
จดทะเบียนบริษัท ใช้ทุนเท่าไหร่
กิจการทั่วไปไม่มีกำหนดทุนจดทะเบียน โดยปกติแล้วทุนที่ใช้มากน้อยจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับกิจการนั้นๆ โดยมูลค่าหุ้นจะต้องไม่ต่ำกว่า 5 บาท/หุ้น
จดทะเบียนบริษัท ต้องมีเงินสดไปวางตามจำนวนที่จดทะเบียนหรือไม่
ก่อนอื่นผู้ประกอบการจะต้องชำระค่าหุ้น 25% ของทุนจดทะเบียน โดยส่วนที่เหลือสามารถค้างชำระไว้ก่อนได้ ยกตัวอย่างเช่น ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ต้องชำระค่าหุ้น 250,000 บาทก่อน
จดทะเบียนบริษัท ต้องมีหุ้นส่วนกี่คน
สำหรับห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องมีหุ้นส่วน 2 คนขึ้นไป และสำหรับบริษัทจำกัดจะต้องมีหุ้นส่วน 3 คนขึ้นไป
เราสามารถให้พ่อแม่เป็นผู้ถือหุ้นได้หรือไม่
ผู้ประกอบการสามารถให้พ่อแม่ถือหุ้นให้คนละ 1% และผู้ประกอบการถือหุ้นจำนวนที่เหลือทั้งหมด หรือตามความต้องการได้ โดยผู้ประกอบการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามกระทำแทนบริษัทแต่เพียงผู้เดียว ขอบเขตการรับผิดชอบจะไม่มากเกินกว่ามูลค่าหุ้นที่ถือเอาไว้
ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ควรเป็นที่ไหน
การจดทะเบียนบริษัทควรจะมีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่งชัดเจน จะเป็นเจ้าของเองหรือเช่าคนอื่นก็ได้ ถ้าเป็นเจ้าของเองก็ต้องทำหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่เป็นสถานประกอบการ แต่ถ้าเป็นผู้เช่าก็ต้องทำสัญญาเช่าให้ชัดเจน
ค่าธรรมเนียมเป็นอย่างไร ใช้เวลากี่วัน
- การจองชื่อและยื่นตรวจเอกสารออนไลน์ใช้เวลาประมาณ 1 วัน และเมื่อนายทะเบียนตรวจสอบเอกสารเสร็จดำเนินการยื่นจดทะเบียนใช้เวลาประมาณ 1 วันเป็นอันเสร็จสิ้น
- ค่าธรรมเนียม
- ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ คิดจากเงินทุนแสนละ 50 บาท โดยเกณฑ์การชำระขั้นต่ำอยู่ที่ 500 บาท และขั้นสูงได้ไม่เกิน 25,000 บาท
- ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัท ตามทุนจดทะเบียนแสนละ 500 บาท ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5,000 บาท และขั้นสูงไม่เกิน 250,000 บาท
- ค่าธรรมเนียมออกหนังสือรับรอง ฉบับละ 200 บาท
- ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท
- ค่ารับรองสำเนาเอกสาร หน้าละ 50 บาท
การจดทะเบียนบริษัทส่งผลดีกับบริษัทของผู้ประกอบการหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษี ความน่าเชื่อถือของธุรกิจ รวมทั้งสร้างโอกาสในการขอสินเชื่อเพื่อพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการและสร้างความถูกต้องในเรื่องของกฎหมาย เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ประกอบการศึกษาการจดทะเบียนบริษัทอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่าการจดทะเบียนย่อมสร้างประโยชน์มากกว่าโทษ
อ้างอิง : https://www.peerpower.co.th/blog/smes/busmgt/register-business-howto/