คำพิพากษาฎีกา สู้กันถึงฎีกา เพราะ ใบอนุโมทนาบัตรระบุชื่อ “ผู้มีเงินได้ และ ครอบครัว”นำมาหักลดหย่อน เงินบริจาค ได้ไหม ?

คำพิพากษาฎีกา สู้กันถึงฎีกา เพราะ ใบอนุโมทนาบัตรระบุชื่อ “ผู้มีเงินได้ และ ครอบครัว”นำมาหักลดหย่อน เงินบริจาค ได้ไหม ?

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7700/2548

เรื่องมีอยู่ว่า สรรพากรได้แจ้งการประเมินภาษี นาย A โดยท่านพี่สรรพ์ไม่ยินยอมให้ นาย A นำ “ใบอนุโมทนาบัตร” ที่ระบุชื่อ “นาย A และครอบครัว” เป็นผู้บริจาค มาถือเป็นค่าลดหย่อนเงินบริจาค และเรียกเก็บภาษีเพิ่มจำนวน 21,806 บาท

นาย A อุทธรณ์ต่อ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามที่สรรพากรประเมินไว้ โดยเสียภาษีเพิ่มจำนวน 21,806 บาท ซึ่งนาย A ได้จ่ายภาษีเพิ่มเติมไปตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัย

 

ยกแรก สรรพากร ชนะ!

นาย A สู้ต่อที่ ศาลภาษีอากรกลาง

ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และให้สรรพากรคืนเงิน 21,806 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี แก่นาย A

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษา ให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และให้สรรพากรคืนเงิน 21,806 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ตามที่นาย A ขอ นับแต่วันที่นาย A ชำระเงินให้แก่สรรพากร จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้สรรพากรใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนนาย A ส่วนค่าทนายความ นาย A ดำเนินคดีเองจึงไม่กำหนดให้

ยกสองนี้ นาย A ชนะ!

สรรพากรอุทธรณ์ต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของสรรพากร คือ ใบอนุโมทนาบัตรที่ระบุชื่อ “นาย A และครอบครัว” เป็นผู้บริจาค นาย A สามารถนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนเงินบริจาคได้หรือไม่เพียงใด

เห็นว่า ตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่ง ป. รัษฎากร ให้สิทธิผู้มีเงินได้พึงประเมินนำเงินที่ตนบริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยหักได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว เมื่อใบอนุโมทนาบัตรที่นาย A นำมาขอหักเป็นค่าลดหย่อน ระบุชื่อนาย A และครอบครัวเป็นผู้บริจาค ย่อมมีเหตุให้เชื่อได้ว่า นาย A ได้บริจาคเงินจริง นาย A จึงมีสิทธิหักเป็นค่าลดหย่อนได้

 ถามว่าหักได้ไหม….ตอบเลยว่า “ได้” จ้า !

ส่วนปัญหาว่า นาย A สามารถนำเงินบริจาคตามที่ปรากฏในใบอนุโมทนาบัตร “ทั้งจำนวน” มาหักเป็นค่าลดหย่อนได้หรือไม่นั้น

เห็นว่า…การที่ใบอนุโมทนาบัตรระบุชื่อ “นาย A และครอบครัว” เป็นผู้บริจาค ก็เพื่อเหตุผลทางด้านจิตใจและความเชื่อทางศาสนาว่า บุคคลในครอบครัวของนาย A ทุกคนได้ร่วมกันทำบุญกุศล เมื่อนาย A เป็นผู้มีชื่อระบุในใบอนุโมทนาบัตร โดยไม่มีชื่อบุคคลอื่นร่วมด้วย นาย A จึงมีสิทธิที่จะ นำเงินบริจาคทั้งจำนวน ตามที่ปรากฏในใบอนุโมทนาบัตรนั้นมาหักเป็นค่าลดหย่อน ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของ นาย A ได้ ทั้งนี้ไม่เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด อุทธรณ์ของสรรพากรฟังไม่ขึ้น

ถามว่าหักได้แค่ไหน….ตอบเลยว่า “หักได้ทั้งจำนวน” จ้า !

ส่วนประเด็นที่นาย A ขอให้สรรพากรคืนเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ยแก่นาย A เนื่องจาก นาย A ได้นำเงินไปชำระแก่สรรพากรตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว และศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้สรรพากรคืนเงิน 21,806 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ตามที่นาย A ขอนับแต่วันที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่สรรพากรจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นาย A นั้น

เห็นว่า… การขอคืนภาษีอากรที่นำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย “ผู้เสียภาษีจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีต่อเจ้าพนักงานของสรรพากร” ตามมาตรา 27 ตรี แห่ง ป. รัษฎากร

แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า นาย A ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีแต่อย่างใด นาย A จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอคืนภาษีและดอกเบี้ย ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 9 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้สรรพากรคืนเงิน 21,806 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่นาย A จึงไม่ชอบ

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

สรุปคือ

  • นำเงินบริจาคที่ใบอนุโมทนาบัตร ระบุชื่อ “นาย A และครอบครัว” มาหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ (ขออนุโมทนาสาธุด้วยครับ)
  • แต่เรื่องการขอคืนภาษีฯ นาย A ต้องไปยื่นฯ เรื่องขอคืนภาษีตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้ครับ

อ้างอิง : https://www.facebook.com/permalink.php?id=1035940873203789&story_fbid=2110109919120207

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart