รายการลดหย่อนภาษี

ใกล้ถึงฤดูกาลยื่นภาษีประจำปี 2567 ทั้งกลุ่มที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี และรายได้ถึงเกณฑ์คงเตรียมพร้อมวางแผนลดหย่อนภาษี และยื่นแบบกันแล้วใช่หรือไม่ ? ซึ่งการยื่นภาษีมีความสำคัญมากกว่าที่ทุกคนคิด เนื่องจากการไม่ยื่นแบบภาษีจะต้องโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ยิ่งถ้ากรมสรรพากรตรวจย้อนหลังแล้วพบเจอว่ารายได้ถึงเกณฑ์แต่หลีกเลี่ยงการเสียภาษี โทษจะยิ่งสูงขึ้นด้วย

รู้อย่างนี้แล้วทุกคนจึงควรยื่นแบบภาษี เพราะนอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ยังทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น แถมยังช่วยให้คุณวางแผนภาษี เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าเดิม จากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ซึ่งจะมีสิทธิลดหย่อนภาษีอะไรบ้าง และมีวิธีการยื่นแบบอย่างไร เราเตรียมคำตอบสำหรับมือใหม่ที่หัดยื่นภาษีครั้งแรก ไว้แล้วในบทความนี้!

การวางแผนภาษีสำคัญอย่างไร

การวางแผนภาษีนอกจากช่วยให้คุณเสียภาษีถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ยังมีประโยชน์สำคัญที่ควรทราบได้แก่

1. สามารถวางแผนการเงินได้รัดกุมและเป็นระบบมากขึ้น

ใครที่เป็นเจ้าของกิจการ หรือฟรีแลนซ์ คงทราบดีว่าระบบการยื่นภาษีของกรมสรรพากรมีทั้งแบบอัตราเหมา และหักค่าใช้จ่ายตามจริง ถ้าต้องการใช้สิทธิหักตามจริง ก็ต้องเตรียมเอกสารใบรับรอง ใบรับเงินต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการ จึงต้องวางแผนการเงินอย่างรัดกุม ไม่นำเงินไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะการใช้จ่ายกับรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจ เช่น ซื้อแอลกอฮอล์ บุหรี่ ไม่อยู่ในรายการหักค่าใช้จ่ายตามจริง

2. ยิ่งวางแผนภาษีเร็ว ยิ่งประหยัดภาษีได้มาก

หากวางแผนภาษีเร็ว เพื่อน ๆ จะมีเวลาศึกษารายละเอียดของรายการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ว่ามีรายการอะไรบ้าง พร้อมเตรียมเอกสารประกอบการลดหย่อนภาษีได้ครบถ้วน ทำให้ได้เงินคืนจากการประหยัดภาษีมากยิ่งขึ้น

 

ระยะเวลาการยื่นภาษี 2567

 

ระยะเวลาการยื่นภาษี 2567

สำหรับระยะเวลายื่นภาษีในปี 2567 ยื่นได้ถึงวันที่ 9 เมษายน 2567 ดังนั้นอย่ารอช้ารีบไปยื่นแต่เนิ่น ๆ จะได้หาทางลดหย่อนภาษีได้ก่อนใคร และไม่ต้องรอคิวนานเมื่อไปทำเรื่องที่สำนักงานกรมสรรพากรใกล้บ้านคุณ

รายการลดหย่อนภาษี ปี 2567 มีอะไรบ้าง?

หากคุณต้องการลดหย่อนภาษี 2567 แต่ไม่รู้ว่ามีรายการใดบ้างที่จะประหยัดภาษีได้มากขึ้นวันนี้เราได้รวบรวมเทคนิคลดหย่อนภาษี 2567 ดี ๆ ผ่านรายการลดหย่อนทั้ง 4 กลุ่มเอาไว้ให้แล้ว ซึ่งได้แก่

  • ค่าลดหย่อนค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
  • ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
  • ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
  • ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

 

1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

เป็นสิทธิลดหย่อนภาษีขั้นพื้นฐานที่ทุกคนได้รับตามกฎหมาย ส่วนจะลดภาษีได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าสถานะว่าโสด สมรส หรือมีบุตรแล้ว ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

  • ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว
    ลดหย่อนได้ 60,000 บาท และสิทธินี้ชาวไทยทุกคนใช้ได้หมดไม่ว่าจะอยู่ในสถานะโสด, แต่งงานแบบจดทะเบียนสมรส หรือไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม
  • ค่าลดหย่อนภาษีคู่สมรส
    ลดหย่อนได้ 60,000 บาท แต่หลายคนเข้าใจว่าแค่แต่งงานจะได้ลดหย่อนภาษีทันที60,000 บาท ไม่ใช่นะ เพราะต้องเป็นคู่สมรสที่ต้องจดทะเบียนสมรส และคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ด้วย ถึงจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีในส่วนนี้
  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร
    หากใครฝากครรภ์ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลจากของรัฐและเอกชน ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามจริงได้ครรภ์ละไม่เกิน 60,000 บาท แต่ถ้าทั้งสองสามีภรรยายื่นแบบภาษี คนที่จะได้รับสิทธินี้ คือ ฝั่งภรรยา ส่วนฝั่งสามีจะได้รับสิทธิลดหย่อนก็ต่อเมื่อฝ่ายหญิงไม่มีรายได้เท่านั้น
  • ค่าลดหย่อนภาษีบุตร
    ครอบครัวไหนมีลูกหลายคนได้เปรียบแน่นอน เพราะลดหย่อนภาษีได้ถึงคนละ 30,000 บาท แต่ต้องเป็นบุตรที่อายุไม่เกิน 20 ปีนะ อายุเกินกว่านี้จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ และการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบุตร พ่อ-แม่ต้องจดทะเบียนสมรส
    ถ้าไม่ได้จดทะเบียน กรณีนี้ฝ่ายคุณพ่อจะไม่ได้รับสิทธิลดหย่อน แต่คุณแม่จะได้สิทธิลดหย่อนแต่เพียงฝ่ายเดียว และบุตรคนที่สองที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ยังได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีสูงถึงคนละ 60,000 บาทอีกด้วย
  • ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส
    หากใครต้องดูแลพ่อแม่ที่อายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป และพ่อแม่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30,000 ต่อคน และสิทธินี้ยังครอบคลุมไปถึงพ่อ-แม่ของคู่สมรสอีกด้วย หมายความว่าถ้าคุณดูแลพ่อแม่ตัวเอง+พ่อแม่แฟนด้วยแล้ว จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ
    หากต้องดูแลผู้พิการที่บ้านไม่ว่าจะเป็น พ่อ-แม่-บุตร สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่ผู้พิการหรือทุพพลภาพนั้นจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000บาท ด้วย และต้องมีหลักฐานว่าคุณเป็นผู้อุปการะจริง ๆ ผ่านใบรับรองแพทย์ หรือว่าบัตรประจำตัวคนพิการ
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
 

 

2. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

สิทธิลดหย่อนภาษีกลุ่มดังกล่าว ผู้สนใจใช้สิทธิต้องซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือสมทบทุนในกองทุนที่รัฐกำหนด ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • เงินประกันสังคม
    พนักงานบริษัทเอกชนที่สมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นประจำเดือนละ 750 บาท หมายความว่าใน 1 ปี คุณจะต้องสมทบทุนเข้าประกันสังคมเท่ากับ 9,000 บาท (750 x 12 เดือน) ทางกรมสรรพากรจึงอนุญาตให้ผู้ที่ชำระประกันสังคมอยู่แล้ว ใช้สิทธิลดหย่อนตามจำนวนเงินสมทบทั้งปีได้เลย หมายความว่าพนักงานบริษัททุกคน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเบื้องต้นได้สูงสุด 9,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์
    จะได้สิทธิลดหย่อนภาษี ก็ต่อเมื่อซื้อประกันที่มีแผนกรมธรรม์คุ้มครองระยะเวลาเกิน 10 ปีขึ้นไป ถ้าในระหว่าง 10 ปีนี้เพื่อน ๆ จ่ายประกันไม่ไหว จนต้องเวนคืนกรมธรรม์ แน่นอนว่าสิทธิลดหย่อนภาษีก็จะหายไปด้วย
    และเบี้ยประกันชีวิตที่คุณได้จ่ายไป นำมาลดหย่อนได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้รับสิทธิลดหย่อน 100,000 บาท นะ เพราะต้องเป็นค่าเบี้ยที่ “จ่ายตามจริง” นั่นแปลว่าถ้าทั้งปีคุณจ่ายเบี้ยไป 5,000 บาท ก็จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเท่ากับ 5,000 บาท เท่านั้น
  • เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ
    ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ แล้วจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท ประโยคนี้เพื่อน ๆ อาจจะงงนิดนึง มาดูตัวอย่างนี้กันนาย ข. ซื้อประกันชีวิตจากบริษัท A จ่ายค่าเบี้ย 75,000 บาทต่อปี,ซื้อประกันสุขภาพแผน B ค่าเบี้ย 12,000 บาทต่อปี และซื้อประกันสุขภาพแผน C จ่ายค่าเบี้ย 20,000 บาทต่อปี ซึ่งรวมกันแล้วจ่ายค่าเบี้ยเท่ากับ 107,000 บาทต่อปี แทนที่นาย ข. จะได้สิทธิลดภาษีเท่ากับ 107,000 บาท แต่ไม่ใช่นะ เพราะตามสิทธิลดหย่อนแล้ว จะลดภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท เท่านั้น
  • เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา
    ถ้าใครทำประกันให้พ่อแม่ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และบิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วย
  • เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม)
    ผู้ที่สนใจทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือซื้อหุ้นกลุ่มดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)
    กองทุนน้องใหม่ที่เน้นลงทุนในบริษัทที่เกาะเมกะเทรนด์ความยั่งยืน ESG สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund)
    นอกจากกองทุน Thai ESG แล้ว กองทุน RMF ก็ให้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ใครสนใจกองทุน RMF ต้องถือหน่วยลงทุนเกินกว่า 5 ปีขึ้นไปนะ ถึงขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2567 นี้ได้
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds)
    ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท แต่มีข้อแม้ว่าเพื่อน ๆ ต้องถือหน่วยลงทุนของ SSF เกินกว่า 10 ปีขึ้นไปถึงจะใช้สิทธิลดภาษีได้ และกองทุน SSF มีข่าวมาว่าจะให้ลดหย่อนภาษีถึงแค่ปี 2567 นี้เท่านั้น ต้องติดตามต่อไปว่าจะได้รับการขยายเวลาต่ออายุการใช้สิทธิลดหย่อนหรือไม่
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
    พนักงานบริษัทเอกชน หรือครูเอกชนที่ได้ทำกองทุนดังกล่าวเอาไว้ นอกจากใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของประกันสังคมได้แล้ว ยังใช้สิทธิลดภาษีจากกองทุน PVD หรือกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชนได้ด้วย ซึ่งลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.)
    ใครเป็นข้าราชการต้องจ่ายเงินกบข. เป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว อย่าลืมขอลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
    ฟรีแลนซ์ พ่อค้า-แม่ค้า ที่ไม่มีกองทุนเหมือนกับสาขาอาชีพอื่น ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เช่นกันผ่านการออมในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งจะลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
    ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้พึงประเมิน ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท สามารถใช้สิทธิดังกล่าวควบคู่ไปกับเบี้ยประกันรูปแบบอื่น ๆ ได้ด้วย

 

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
 

 

3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

การบริจาคเงินก็อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถลดหย่อนภาษี 2567 ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีเงินบริจาค 3 ประเภทที่อยู่ในเกณฑ์ลดหย่อนภาษี

  • เงินบริจาคทั่วไป
    ใครเป็นสายมู บริจาคให้วัดวาอาราม หรือมูลนิธิอยู่เป็นประจำ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนกลุ่มอื่น ดังนั้นหลังบริจาคเสร็จแล้วให้ขอใบเสร็จไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการขอลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ
    จัดเป็นค่าลดหย่อนภาษีที่สูงกว่ากลุ่มอื่นเลยทีเดียว เพราะลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง
    ใครมีพรรคการเมืองในดวงใจ ก็อย่าลืมบริจาคให้ด้วยนะ เพราะให้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงถึง 10,000 บาท
ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
 

 

4. ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

สำหรับกลุ่มนี้ต้องติดตามข่าวสารเศรษฐกิจสักหน่อยว่ารัฐบาลได้มีโครงการอะไรออกมากระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง และนอกจากโครงการรัฐแล้วใครที่กำลังผ่อนบ้านอยู่ ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน

  • Easy E-Recipt
    ใครเป็นสายช็อปปิ้งห้ามพลาดกับการเข้าร่วมโครงการนี้เด็ดขาด เพราะให้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุดถึง 50,000 บาทต่อคน แต่ไม่ใช่สินค้าทุกรายการนะที่จะเข้าโครงการนี้ ก่อนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจึงต้องตรวจสอบรายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วมรายการเป็นอันดับแรก เมื่อซื้อเสร็จแล้วให้ขอใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบเสร็จจากร้านค้า เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันในการรับสิทธิหักค่าลดหย่อนภาษีด้วย
  • ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย
    ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว คอนโด ทาวน์เฮ้าส์ ฯลฯ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามค่าใช้จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท หมายความว่าถ้าทั้งปีจ่ายดอกเบี้ยไป 120,000 บาท ก็ลดได้แค่ 100,000 บาท นะ

 

เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2567

เมื่อทราบแล้วว่าสิทธิลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง ให้เตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

  • ใบเสร็จรับเงินในการซื้อกองทุน ประกันชีวิต ประกันสะสมทรัพย์
  • หลักฐานการบริจาค
  • หนังสือรับรองดอกเบี้ยจากการกู้ยืมของทางธนาคาร

จะเห็นได้ว่าหากต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2567 ต้องเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะใช้เอกสารเยอะมาก ยิ่งใครมีรายได้สูง ยิ่งต้องวางแผนภาษีกันข้ามปีเลยทีเดียว

สถานที่สำหรับการยื่นภาษี

สามารถยื่นแบบภาษี เพื่อขอสิทธิลดหย่อนภาษีได้ 2 แห่ง ได้แก่

  • สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานในห้าง ในเขต อำเภอ ยื่นได้ทั้งหมด
  • เว็บไซต์ของกรมสรรพากร

หลังจากรู้จักกับสิทธิลดหย่อนภาษีทั้ง 4 ประเภทไปแล้วหวังว่าทุกคนคงได้รับความรู้เตรียมพร้อมยื่นแบบภาษี และวางแผนลดหย่อน เพื่อจะได้ประหยัดภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ และอย่าลืมว่าสิทธิลดหย่อนภาษี 2567 ไม่เหมือนกับการลดภาษีนะ

เพราะวิธีการคิดคำนวณภาษีเกิดจากรายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้ หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า “เงินได้สุทธิ” จากนั้นกรมสรรพากรก็จะนำเงินได้ในส่วนนี้ไปคิดภาษีด้วยอัตราภาษีต่อไป  หมายความว่ายิ่งมีรายการลดหย่อนเยอะเท่าไหร่ เงินได้ก็ยิ่งลดลง ทำให้เมื่อคำนวณด้วยอัตราภาษีแล้ว จะประหยัดภาษีได้พอสมควร

เมื่อรู้ดังนี้แล้วควรติดตามข่าวสารการลดหย่อนภาษีอยู่เป็นประจำ เพราะมีรายการลดหย่อนภาษีที่อัปเดตอยู่เสมอ และถ้าไม่รู้ขั้นตอนการลดหย่อนภาษี 2567 ว่าต้องทำอย่างไรดี เพียงแค่เดินไปที่สำนักงานกรมสรรพากรใกล้บ้านคุณได้เลย มีเจ้าหน้าที่พร้อมให้คำปรึกษาคุณแน่นอน

Cr. https://www.krungsricard.com/th/article/รายการลดหย่อนภาษี-2567

ในช่วงต้นปีนี้ เชื่อว่าหลาย ๆ คน โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2567 ก็ต้องมองหารายการลดหย่อนภาษี ว่าสามารถนำอะไรไปลดย่อนได้บ้าง ที่จะนำเงินได้ของปี 2566 มาคำนวณแล้วยื่นภาษีในปีนี้ ตามที่ทางกรมสรรพากรกำหนดเอาไว้ ทั้งการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ แบบ ภ.ง.ด.91 ซึ่งดีเดย์ในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเปิดให้ยื่นได้จนถึงวันที่ 8 เมษายน 2567 ที่จะถึงนี้ เพราะฉะนั้น ก่อนไปยื่นภาษีด้วยตนเอง เรามาดูกันว่าในปีนี้รายการลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง ที่สามารถนำไปใช้ได้ แล้วมีมาตรการไหนหรือบ้าง ที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในปีนี้

ทำความรู้จัก “รายการลดหย่อนภาษี” สำหรับมนุษย์เงินเดือน

คำว่า “รายการลดหย่อนภาษี” หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “ค่าลดหย่อนภาษี” เป็นรายการที่ทางกฎหมายกำหนดให้หักการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อแบ่งเบาภาระทางด้านภาษีให้กับผู้เสียภาษี เช่น การจ่ายภาษีได้ถูกลง หรือการขอรับเงินคืนภาษี โดยสิทธิในการลดหย่อนภาษีนั้น จะมีหลากหลายหมวดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนคู่สมรส ค่าลดหย่อนบิดามารดา ค่าลดหย่อนบุตร ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมาตรการทีทางรัฐกำหนดให้ในแต่ละปี เช่น โครงการช้อปดีมีคืน เป็นต้น

รวมรายการลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้างที่ใช้ได้

สำหรับการรายการลดหย่อนภาษี 2567 ที่ใช้ประกอบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากปี 2566 ที่ผ่านมานั้น ผู้ที่มีเงินได้สามารถลดหย่อนได้หลากหลายหมวดด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

สำหรับค่าลดหย่อนส่วนตัวนั้น ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้เสียภาษีสามารถใช้ค่าลดหย่อนส่วนตัวได้ปีละ 60,000 บาท โดยสามารถใช้สิทธิได้ทันทีทั้งการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2566 ด้วยการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ซึ่งหากยื่นภาษีทางออนไลน์จะมีรายการลดหย่อนส่วนตัวให้โดยอัตโนมัติ

2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส ใช้สิทธิลดหย่อนได้ 60,000 บาท

ในกรณีที่ใช้สิทธิลดหย่อนคู่สมรสใช้ลดหย่อนได้สูงสุด 1 คน และต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น โดยคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้ไม่มีเงินได้ หรือว่ามีรายได้ในปีนั้น ๆ เช่น หากยื่นภาษีในปี 2567 นี้ ก็เท่ากับว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา จะต้องไม่มีเงินได้เลย เป็นต้น ส่วนกรณีที่มีเงินได้ทั้งคู่ สามารถยื่นภาษีรวมกันแล้วใช้สิทธิลดหย่อนในหมวดหมู่นี้ได้

3. ค่าลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมาย คนละ 30,000 บาท

ในกรณีที่ต้องการใช้ค่าลดหย่อนบุตร สามารถใช้สิทธิได้คนละ 30,000 บาท ส่วนถ้ามีบุตรคนที่ 2 โดยนับตั้งแต่ที่เกิดในปี 2561 เป็นต้นไป สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นบุตรบุญธรรม สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 3 คน และต้องมีชีวิตอยู่เท่านั้น ซึ่งกรณีนี้บุตรจะต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี ส่วนบุตรที่มีอายุตั้งแต่ 21 – 25 ปี จะต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป และบุตรจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ยกเว้นกรณีที่ได้รับเงินปันผล

4. ค่าลดหย่อนบิดามารดา คนละ 30,000 บาท

โดยบุตรที่เลี้ยงดุพ่อแม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท โดยต้องเป็นพ่อแม่ที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือก็คือเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง นอกจากนี้ พ่อแม่จะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ส่วนกรณีที่มีพี่น้องที่มีเงินได้แล้วต้องการใช้สิทธิลดหย่อน จะต้องมีการพูดคุยกันอย่างชัดเจนว่าใครจะใช้สิทธิตรงนี้ เพราะว่าตามกฎหมายให้ใช้สิทธิได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่สามารถใช้สิทธิซ้ำกันได้ ส่วนใครที่ใช้สิทธิลดหย่อนบิดามารดา จะต้องทำหนังสือรับรองการหักค่าลดหย่อน หรือ ลย.03 ประกอบกัน

5. ค่าลดหย่อนผู้พิการ หรือทุพพลภาพ ใช้สิทธิได้คนละ 60,000 บาท

หากเป็นผู้อุปการะหรือว่าผู้ดูแลผู้พิการหรือทุพพลภาพ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท แต่เงื่อนไขคือ จะต้องมีหลักฐานในการยื่นประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็น บัตรประจำตัวผู้พิการหรือว่าใบรับรองแพทย์ และใบ ลย.04

6. ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท

ในกรณีที่มีการฝากครรภ์และคลอดบุตร สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง โดยไม่เกิน 60,000 บาท ซึ่งกรณีที่ยื่นภาษีเงินได้ส่วนบุคคลธรรมดา ตามกฎหมายแล้วให้เป็นของภรรยา แต่ถ้ากรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้สามีจึงจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตรงนี้แทนได้ ซึ่งจะต้องยื่นควบคู่กับใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์

7. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกันและการลงทุน

  • ประกันสุขภาพ ไม่เกิน 25,000 บาท
  • ประกันชีวิตทั่วไป + สะสมทรัพย์ รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
  • ประกันสังคม 9,000 บาท
  • ประกันสุขภาพพ่อแม่ ไม่เกิน 15,000 บาท
  • กองทุน RMF ลดหย่อนภาษีได้ 30% แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุน SSF ลดหย่อนภาษีได้ 30% ไม่เกิน 200,000 บาท และหากรวมกับกองทุนอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ลดหย่อนภาษี 2567 ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

1. โครงการช้อปดีมีคืน 2566

สำหรับโครงการช้อปดีมีคืน สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 มาใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2566 ได้ตามที่จ่ายจริง แต่เงื่อนไขคือ ต้องไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งสิทธิลดหย่อนจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มสินค้าหรือบริการ 30,000 บาทแรก สามารถใช้ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบเป็นหลักฐาน และค่าสินค้าหรือบริการ 10,000 บาทที่เหลือ ต้องใช้ใบเสร็จรับเงินหรือว่าใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักฐานประกอบการยื่นลดย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น

หมายเหตุ : ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากโครงการช้อปดีมีคืน 2566 ได้

2. ลดหย่อนภาษี ดอกเบี้ยบ้าน

หากใครที่ซื้อคอนโดหรือบ้าน สามารถนำดอกเบี้ยที่ได้จากการซื้อที่อยู่อาศัย มาใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2567 ได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยจะต้องยื่นร่วมกับเอกสารรับรองการจ่ายดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้ออกให้ ส่วนกรณีที่ซื้อแบบกู้ร่วมสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเฉลี่ยตามจำนวนผู้ร่วมกู้

ลดหย่อนภาษี 2567 ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ลดหย่อนภาษี 2567 ด้วย e-Tax Invoice กับ Easy E-Receipt

อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจมาก ๆ ก็คือ โครงการ Easy E-Receipt ที่สามารถนำค่าซื้อสินค้าหรือบริการมาลดหย่อนภาษี 2567 ได้สูงสุดถึง 50,000 บาท โดยจะต้องเป็นการซื้อสินค้าและบริการภายในวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยโครงการนี้ทางผู้ให้บริการจะต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

โดยโครงการนี้ยังเข้าเกณฑ์ Digital Wallet ด้วย รวมถึงการใช้บริการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าโรงแรมหรือค่าตั๋วเครื่องบิน อุปกรณ์ไอทีและเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ตลอดจนร้านค้าทั่วไปที่สามารถออกใบกำกับภาษี e-Tax Invoice & e-Receipt ให้ได้ (ไม่สามารถใช้แบบกระดาษได้) ทั้งนี้ หากร้านค้าไม่ได้จดทะเบียนภาษี จะต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือบริการที่เป็นหนังสือพิมพ์ และนิตยสารทุกรูปแบบ หรือเป็นสินค้าจากโครงการ OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน

หมายเหตุ : ใช้ลดหย่อนภาษีในปี 2567 ที่จะเก็บภาษีในช่วงต้นปี 2568

สรุปรายการลดหย่อนภาษี 2566 เช็กเพื่อวางแผนได้ทันที

คนไทยทุกคนที่มีเงินเดือนประจำตั้งแต่ 120,000 บาท/ปี หรือมีรายได้ประเภทอื่นตั้งแต่ 60,000 บาท/ปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี โดยไม่เกี่ยวข้องกับอายุแต่อย่างใด ส่วนจะต้องเสียภาษีเท่าไรนั้นจะขึ้นอยู่กับฐานของเงินได้สุทธิในแต่ละปี ซึ่งทุกคนสามารถวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้สามารถประหยัดภาษีลงไปได้ หรืออาจจะไม่ต้องเสียภาษีเลยหากเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้วเหลือไม่เกิน 150,000 บาท/ปี ด้วยเหตุนี้เอง การวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีจึงควรทำตั้งแต่เริ่มต้นปี เพราะจะช่วยให้สามารถคำนวณสิทธิลดหย่อนแบบเต็มอัตราได้ และค่าลดหย่อนบางประเภทยังเป็นแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณได้ด้วย มาเริ่มต้นทำความเข้าใจกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เราจะได้รับเพิ่มเติม อัปเดตเลยว่าค่าลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงรายละเอียดอย่างครบถ้วนเลยทีเดียว

การลดหย่อนภาษีคืออะไร

การลดหย่อนภาษี หรือที่เรียกว่า “ค่าลดหย่อน” นั้น คือ รายการใช้จ่ายที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้มีเงินได้สามารถนำไปหักออกจากเงินได้ หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วเพิ่มเติมได้ และวิธีนี้ไม่ใช่การเลี่ยงภาษี แต่เป็นรายการที่กฎหมายอนุญาตให้ทุกคนทำได้

วิธีการคำนวณเงินได้สุทธิ คือ “(รายได้รวมต่อปี – ค่าใช้จ่าย) – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ”

ซึ่งยิ่งมีค่าลดหย่อนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้คุณจ่ายภาษีน้อยลง เนื่องจากเหลือเงินได้สุทธิที่ลดลง โดยปัจจุบันคุณสามารถคำนวณภาษีได้สะดวกและง่ายมากขึ้น ผ่านเครื่องมือคำนวณภาษีของธนาคารกรุงศรีอยุธยานี้

ค่าลดหย่อนภาษีพื้นฐาน

รายการพื้นฐานที่ใช้สำหรับลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง

รายการลดหย่อนภาษีตามที่กฎหมายกำหนดในแต่ละปีจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้การสนับสนุน และกระตุ้นให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมในเรื่องการลงทุนมากขึ้น ดังนั้นในแต่ละปีจะต้องตรวจเช็กว่า มีรายการลดหย่อนภาษีอะไรบ้างที่ใช้ได้ มาอัปเดตของปี 2566 กันเลย

ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว และครอบครัว

  1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว
    หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท เป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ที่มีรายได้ทุกคน ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ทันที
  2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส
    หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท ซึ่งคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ และจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หากคู่สมรสมีรายได้ต้องพิจารณาว่า ต้องการยื่นรายได้รวมกันหรือแยกกัน
  3. ค่าลดหย่อนบุตร
    1. บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ ต้องอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 21-25 ปีที่กำลังศึกษากำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป
      • บุตรที่เกิดก่อนปี 2561 หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
      • บุตรที่เกิดหลังปี 2561 คนแรกหักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท คนที่ 2 เป็นต้นไปหักค่าลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท
      • ใช้ลดหย่อนได้ตามจำนวนบุตรจริง
      • บุตรที่นำมาใช้สิทธิจะต้องมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/ปี
    2. บุตรบุญธรรม ต้องจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมาย
      • หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 3 คน
      • หากมีบุตรชอบด้วยกฎหมายด้วย จะต้องใช้และนับสิทธิก่อน หากใช้ครบแล้ว 3 คน จะไม่สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้อีก
      • บุตรบุญธรรมที่นำมาใช้สิทธิจะต้องมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/ปี
    3. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร หักได้ตามจริงที่จ่ายให้สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท/การตั้งครรภ์ หากเป็นครรภ์ฝาแฝดจะนับเป็น 1 การตั้งครรภ์
  4. ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
    • หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
    • สามารถหักลดหย่อนได้ทั้งของตนเองและของคู่สมรส รวมสูงสุด 4 คน
    • บิดา มารดาที่นำมาใช้สิทธิ ต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท
    • ในกรณีครอบครัวนั้นมีบุตรหลายคน พี่น้องจะสามารถนำบิดา มารดา ไปใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีซ้ำได้
    • บุตรบุญธรรม ไม่สามารถนำบิดา มารดา ที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมมาลดหย่อนได้
  5. ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ
    • หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
    • ผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะของผู้มีรายได้
    • ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้มีเงินได้ จะสามารถใช้สิทธิได้ทั้ง 2 ส่วน และไม่จำกัดจำนวนคน เช่น กรณีอุปการะเลี้ยงดูบิดา หักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท และบิดาเป็นผู้พิการ ก็จะได้ค่าลดหย่อนเพิ่มอีก 60,000 บาท รวมแล้วสามารถหักค่าลดหย่อนได้ 90,000 บาท หรือกรณีเป็นคู่สมรสจะหักได้ถึง 120,000 บาท เป็นต้น
    • ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ไม่ได้เป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้มีเงินได้ จะสามารถใช้สิทธิได้เพียง 1 คน

10 ค่าลดหย่อนภาษี จากการซื้อประกัน การออมเงิน และการลงทุน

  1. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
    หักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่บังคับหักเข้ากองทุน 5% ของเงินเดือนทุกเดือน โดยมีขั้นต่ำ 83 บาท/เดือน และสูงสุด 750 บาท/เดือน (จำนวนสูงสุดจะคิดที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท เท่านั้น)
  2. เบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันแบบสะสมทรัพย์
    • ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้เท่ากับเบี้ยที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
    • กรมธรรม์ที่ทำต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
    • ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น
    • หากคู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถนำเบี้ยประกันของคู่สมรสมาลดหย่อนได้เพิ่มเติม และสูงสูด 10,000 บาท
      ในกรณีที่คุณยังไม่ได้ทำประกันชีวิต และกำลังมองหาแบบประกันชีวิตที่เข้ากับคุณ สามารถเข้าไปดูข้อมูลประกันชีวิตลดหย่อนภาษีผ่านเว็บไซต์ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ทันที
  3. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุเฉพาะความคุ้มครองสุขภาพ
    หักค่าลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 25,000 บาท ทั้งนี้เมื่อนำเบี้ยประกันสุขภาพ ประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์มารวมกัน จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  4. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
    • หักค่าลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
    • กรมธรรม์ที่ทำต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
    • ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น อย่างเช่น ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีแบบบำนาญจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา
    • ต้องมีเงื่อนไขการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ และต้องกำหนดช่วงอายุของการจ่ายเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55-85 ปีขึ้นไป
  5. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา
    สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีเท่าที่จ่ายจริง และเมื่อรวมทั้งบิดาและมารดาต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดยที่บิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ในส่วนนี้จะไม่มีเงื่อนไขอายุของบิดามารดาที่ต้องครบ 60 ปีขึ้นไป
  6. เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
    สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง และต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  7. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
    นำมาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้หากสนใจที่จะลงทุนใน กอช. จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ
    • ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 15-60 ปี
    • ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคม ยกเว้นผู้ประกันตนมาตรา 40 (1)
    • ไม่ได้เป็นข้าราชการ และสมาชิก กบข., ไม่ได้เป็นสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และไม่ได้เป็นพนักงานประจำ
    • เข้าใจง่าย ๆ ว่า เป็นกองทุนสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งไม่ได้มีนายจ้างนั่นเอง
  8. การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
    เงินที่ลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง RMF (Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  9. การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
    เงินที่ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี SSF (Super Saving Funds) สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ปัจจุบันจะให้สิทธิลดหย่อนได้ 5 ปี คือ ปี 2563-2567
  10. เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
    หักค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องลงทุนหรือลงหุ้นในธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมภายในข้อกำหนดของ พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 และหากเป็นการลงทุนในหุ้น มีข้อบังคับให้ต้องถือหุ้นจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น ๆ จะเลิกกิจการ

อย่าลืม!!! : คำนวณอัตราสูงสุดที่ใช้ลดหย่อนได้ เพื่อความคุ้มค่าในการลงทุนและประหยัดภาษี

  1. ประกันชีวิต + ประกันแบบสะสมทรัพย์ + ประกันสุขภาพ + ประกันอุบัติเหตุเฉพาะความคุ้มครองสุขภาพ = 100,000 บาท
  2. ประกันชีวิตแบบบำนาญ + กองทุนเพื่อการเกษียณอายุ* = 500,000 บาท

*กองทุนเพื่อการเกษียณอายุในปัจจุบัน คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

ลดหย่อนภาษีด้วยเงินบริจาค

  1. เงินบริจาคทั่วไป
    เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  2. เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน คือ
    • สถานศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน
    • สถานพยาบาลของรัฐ
    • การบริจาคผ่าน e-Donation ผ่านสภากาชาด, กองทุนยุติธรรม, หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย, กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กองทุนสนับสนุนการวิจัยตามกฎหมาย, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขม, กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้ง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก, การจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน ให้กับสถานศึกษาของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษา, โครงการฝึกอบรมอาชีพ สถานพักฟื้น บำบัด และฟื้นฟูเด็ก และเงินบริจาคให้คนพิการเพื่อการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ
  3. เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง
    นำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

ทั้งนี้การลดหย่อนผ่านเงินบริจาค ต้องมีการอัปเดตเงื่อนไขจากภาครัฐอยู่เสมอ เพราะอาจมีทั้งองค์กรที่เพิ่มขึ้น และเงื่อนไขการรับบริจาคที่ปรับปรุงใหม่

ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมผ่านมาตรการรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

  1. ดอกเบี้ยบ้าน
    สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง และสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  2. ช้อปดีมีคืน สำหรับลดหย่อนภาษี 2566
    • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 – 15 กุมภาพันธ์ 2566
    • สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท
    • 30,000 บาทแรก ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ทั้งแบบกระดาษ และแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
    • 10,000 บาทที่เหลือ ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เฉพาะแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
    • ทั้งนี้ผู้มีเงินได้ต้องเก็บรักษาใบกำกับภาษีไว้เป็นหลักฐาน ทั้งแบบกระดาษและแบบอิเล็กทรอนิกส์ หากเป็นกระดาษที่หมึกจางหายได้ แนะนำให้สแกนไฟล์หรือถ่ายเอกสารประกบไว้อีก 1 ชุด
วิธีเช็กค่าลดหย่อนภาษี

วิธีตรวจสอบสิทธิลดหย่อนภาษี 2566 ที่ทำได้ด้วยตัวเอง

  1. เริ่มต้นโดยเข้าไปยังเว็บไซต์กรมสรรพากร
  2. คลิกเลือกเมนู My Tax Account ซึ่งจะเป็นบริการตรวจสอบข้อมูลภาษี รวมถึงค่าลดหย่อนด้วย
  3. ก่อนใช้งานต้องลงทะเบียน หรือล็อกอินด้วยบัญชีเดียวกับระบบ e-Filing
  4. เลือกรายการลดหย่อนเพื่อตรวจสอบ

ข้อแนะนำในการลดหย่อนภาษี 2566

  1. ควรมีการวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปี เพื่อให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า ในปีภาษีนั้น ๆ ควรใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเท่าไหร่ เช่น ค่าลดหย่อนภาษีปี 2566 มีอะไรบ้างที่อัปเดตขึ้นมาใหม่ ต้องใช้เงินเพื่อลดหย่อนจำนวนเท่าไหร่ที่จะครอบคลุมเงินได้ในปีภาษี 2566 ทั้งหมด และมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องลดหย่อนเต็มอัตรา ซึ่งจะทำให้คุณสามารถบริหารเงินสดในแต่ละปีได้ดีขึ้น ไม่ต้องใช้เงินสดจำนวนมากเพื่อลดหย่อนในช่วงโค้งสุดท้ายของปี
  2. ระยะเวลายื่นภาษี ผู้มีรายได้ที่ต้องยื่นภาษี สามารถยื่นภาษีแบบกระดาษได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี และหากไม่สะดวกไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เอง ก็สามารถยื่นภาษีทางออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 เมษายน ซึ่งหากตรงกับวันหยุดจะเลื่อนวันสิ้นสุดออกไป ทั้งนี้ในแต่ละปีภาครัฐอาจจะมีนโยบายขยายระยะเวลาสิ้นสุดมาบังคับใช้เพิ่มเติมด้วย
  3. ระวัง!!! ไม่ยื่นแบบ ยื่นล่าช้า ยื่นผิด มีโทษปรับและจำคุก
    • ไม่ยื่นแบบ ยื่นเกินเวลา มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
    • ยื่นแบบเกินเวลาและมีภาษีต้องชำระ มีค่าปรับเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
    • ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ไม่จ่ายภาษีภายใน 31 มีนาคม ต้องไปยื่นแบบที่สำนักสรรพากรพื้นที่ และมีค่าปรับร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
    • กรณีกรมสรรพากรตรวจพบว่า คุณไม่ยื่นแบบและออกหมายเรียก หรือยื่นแล้วแต่ชำระภาษีไม่ครบ ต้องชำระเงินเพิ่ม และต้องเสียเบี้ยปรับ 1 หรือ 2 เท่า ของภาษีที่ต้องชำระ
    • จงใจยื่นแบบด้วยข้อมูลเท็จ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และมีโทษปรับ 2,000 – 200,000 บาท
    • ตั้งใจละเลยไม่ยื่นแบบเพื่อเลี่ยงภาษี มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. สามารถผ่อนชำระภาษีได้ หากมียอดชำระภาษีตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป สามารถผ่อนชำระได้ 3 เดือน แต่ต้องระวังไม่ให้จ่ายภาษีเกินกำหนด เพราะจะมีโทษปรับร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
  5. ช่องทางติดต่อกรมสรรพากร หากมีข้อสงสัยเกี่ยวการยื่นภาษี สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161 ทุกวันทำการ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. – 18.00 น.

จะเห็นได้ว่า การวางแผนการลดหย่อนภาษีนั้นเกี่ยวข้องกับทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องเสียภาษีเพื่อนำไปพัฒนาประเทศต่อไป และเพื่อให้สามารถประหยัดภาษีได้อย่างคุ้มค่าในแต่ละปี การรักษาสิทธิด้วยค่าลดหย่อนเป็นอีกสิ่งที่ต้องมีในแผนการเงินของทุกคน โดยเฉพาะกับการลงทุนในกลุ่มประกันชีวิตและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุต่าง ๆ เช่น SSF ลดหย่อนภาษี หรือ RMF ลดหย่อนภาษี ที่นอกจากจะช่วยลดภาษีลง ยังถือว่าเป็นการวางแผนเกษียณไปในตัว ซึ่งหากท่านใดต้องการคำแนะนำที่เหมาะสมกับตนเองโดยเฉพาะ สามารถปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมกับทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน การลงทุน การวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษี ที่สามารถให้คำปรึกษาผ่านช่องทางฮอตไลน์ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-296-5959 ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 9.00 น.-17.00 น. หรือฝากข้อมูลเพื่อให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาติดต่อกลับก็ได้เช่นกัน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุนรวม SSF เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม และ RMF ลงทุนเพื่อเกษียณอายุ ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน

บทความโดย

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart